กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--พีอาร์ดีดี
นางสาวอรลดา เผ่าวิบูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TSI Insurance เปิดเผยว่า บริษัท ฯ ได้เปิดบริการเพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่หลากหลายเพื่อความเหมาะสมในธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีมีการขยายตัวของตลาดอย่างรวดเร็วและเจ้าของธุรกิจยังคงขาดความเข้าใจว่าธุรกิจของตนเองมีความเสี่ยงด้านใดบ้าง และส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการนำระบบประกันภัยมาใช้เพื่อบริหารความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่มีนโยบายกระตุ้นให้ธุรกิจเอสเอ็มอีใช้ประกันภัยบริหารความเสี่ยง
โดยบริษัทฯ ได้มีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือ TSI SME Strong Business ที่จะเป็นเครื่องมือตัวช่วยผู้ประกอบการธุรกิจ โดยมอบภาระในการจัดการเกี่ยวกับความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจไว้กับมืออาชีพในการจัดการเรื่องความเสียง ให้มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจเพียงด้านเดียว โดย TSI SME Strong Business ได้ออกแบบมาพิเศษเพื่อธุรกิจรายย่อยถึงปานกลาง คือ ธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดย่อย ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านตัดผม-เสริมสวย คลินิกขนาดเล็ก โรงแรมขนาดเล็ก หอพัก โดยเริ่มต้นที่เบี้ยประกัน 555 บาทต่อปี ซึ่งให้ความคุ้มครองตามภัยหลักๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจ อาทิ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ลมพายุ น้ำท่วม ลูกเห็บ แผ่นดินไหว การระเบิดของแก๊ส ฯลฯ
"ในปัจจุบันภัยธรรมชาตินั้นมีความรุนแรงมากกว่าในภัยอื่น รวมถึงความถี่ก็บ่อยขึ้น อาทิในกรุงเทพฯ หากฝนตกหนักก็จะเจอปัญหา น้ำรอระบาย ซึ่งการท่วมอาจไม่นาน แต่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งอาจจะต้องหยุดประกอบการไป 1-2 วัน ถ้าหากต้องหยุดดำเนินการเพียงวันเดียวรายได้จะหายไปด้วย ซึ่งTSI SME Strong Businessให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สินที่เสียหายจากภัยน้ำท่วมแล้ว ยังชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป ในช่วงวันที่ต้องปิดกิจการเพื่อซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายนั้น ๆ ดังนั้นผู้เอาประกันภัยสามารถวางใจได้ แม้จะเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินแต่รายได้ก็ยังได้รับอยู่แม้จะต้องหยุดธุรกิจชั่วคราวระหว่างการซ่อมแซม" นางสาวอรลดา กล่าว
นอกเหนือไปจากทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้ TSI SME Strong Business แล้ว ยังคุ้มครองไปถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับตัวผู้ประกอบการและลูกจ้าง โดยให้ความคุ้มครองสูงสุดถึง 1,000,000 บาท
อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวังเพิ่มเติม คือเนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีผู้ประกอบการบางราย อาจจะใช้บ้านที่อยู่อาศัย เป็นสถานที่ประกอบการ อาทิ อาคารพาณิชย์ทั่ว ๆ ไป ชั้นล่างอาจจะเปิดกิจการเป็นร้านขายอาหาร แต่ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย กรมธรรม์ฉบับเดิมที่ทำอยู่นั้น หากระบุเป็นแค่ที่อยู่อาศัย หากเกิดความเสียหายต่อร้านค้าที่อยู่ด้านล่าง อาจจะถูกปฏิเสธความคุ้มครองเนื่องจากใช้สถานที่เอาประกันภัย ผิดจากที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ หรือในบางกรณีที่เป็นการเช่าสถานที่เพื่อประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการควรตรวจสอบกับเจ้าของสถานที่นั้น ๆว่า ได้มีการทำประกันภัยเอาไว้แล้วหรือไม่ หากมีอยู่แล้ว ผู้ประกอบการสามารถเลือกที่จะทำประกันภัยเฉพาะ อุปกรณ์ เครื่องมือ ในการประกอบธุรกิจเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการทำประกันภัยซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น รวมถึงหากว่าต้องทำประกันภัยสถานที่เช่านั้น ๆด้วย สามารถระบุชื่อเจ้าของสถานที่เป็นผู้เอาประกันภัยร่วมได้