เตือนประชาชนงดดื่มน้ำจากบ่อน้ำตื้นและบึงน้ำในพื้นที่ปนเปื้อนไนเตรทหากยังไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพน้ำ

ข่าวทั่วไป Friday December 7, 2007 12:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
นางสาวสมคิด บัวเพ็ง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเปิดเผยว่า จากกรณีที่ กรีนพีซเผยรายงานการพบสารไนเตรทปนเปื้อนในแหล่งน้ำบาดาลที่จังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างน้ำในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว พบว่า น้ำผิวดินและน้ำจากบ่อน้ำตื้นมีการปนเปื้อนของสารไนเตรทเกินกว่ามาตรฐาน ส่วนน้ำบาดาลยังอยู่ในเกณฑ์บริโภคได้ ดังนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงขอประกาศเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวงดการบริโภคน้ำจากบ่อน้ำตื้นและบึงน้ำ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะได้ประสานกับจังหวัดจัดหางบประมาณในการติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถ ใช้น้ำบาดาลสำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างปลอดภัย
สำหรับการดำเนินการในขั้นต่อไป กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะทำการสำรวจ บ่อน้ำบาดาลโดยใช้กล้องโทรทัศน์ใต้น้ำ เพื่อตรวจสอบสภาพบ่อน้ำบาดาลว่า มีการชำรุดเสียหายที่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารไนเตรทลงไปในบ่อน้ำบาดาลหรือไม่ หากพบว่ามีการชำรุดเสียหายจะเร่งทำการอุดกลบบ่อน้ำบาดาลนั้นทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของสารไนเตรทลงสู่ชั้นน้ำบาดาลที่มีคุณภาพดี นอกจากนี้จะมีการสำรวจ สภาพทางธรณีวิทยาโดยละเอียด โดยใช้วิธีธรณีฟิสิกส์ 3 มิติ ตรวจสอบความอ่อนไหวของแหล่งน้ำบาดาลต่อการปนเปื้อน เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะได้ประสานกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้เข้าไปแนะนำเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยและสารเคมีในพื้นที่การเกษตรอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดสารเคมีตกค้าง และแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในบริเวณนี้ไปอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับการปนเปื้อนของโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่ว ทองแดง และสังกะสี ในน้ำบาดาลของหมู่บ้านหนองเป็ด ซึ่งอยู่ติดกับนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือจังหวัดลำพูนนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลมาตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า ไม่พบการปนเปื้อนของโลหะหนักในแหล่งน้ำบาดาล แต่จะมีฟลูออไรด์ในน้ำบาดาล ซึ่งสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะทางธรณีวิทยาที่มีแร่ฟลูออไรต์ ซึ่งทำให้เกิดสารละลายฟลูออไรด์เจือปนอยู่ในน้ำบาดาลได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาฟลูออไรด์สูงในน้ำบาดาลอยู่แล้ว และในปีงบประมาณ 2551 นี้ จะดำเนินการเพิ่มเติมอีก 50 แห่งทั่วประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ