กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์ขอชี้แจงถึงโครงการไทยนิยมยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะมีส่วนช่วยผลักดันสหกรณ์ให้สามารถพัฒนากิจกรรมของสหกรณ์มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์รับผิดชอบดูแลงบประมาณเพื่ออุดหนุนจ่ายขาดให้สหกรณ์การเกษตรนำไปจัดซื้ออุปกรณ์การตลาดและเครื่องมือแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการพัฒนาสถาบันเกษตรกรจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร(แก้มลิง) โครงการสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โครงการเพิ่มศักยภาพการรวบรวมการแปรรูปยางพาราในสถาบันเกษตรกร ซึ่งขณะนี้กรมฯ ได้รวบรวมข้อมูลการอนุมัติงบกลางปีที่จัดสรรให้กับสหกรณ์ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 307 แห่ง ในพื้นที่ 67 จังหวัด ซึ่งทุกสหกรณ์ที่ได้รับการคัดเลือกได้ผ่านการประเมินแล้วว่าเป็นสหกรณ์ที่มีศักยภาพ มีผลการดำเนินงานที่โปร่งใส สามารถบริหารจัดการธุรกิจ ได้อย่างเข้มแข็ง และก่อให้เกิดประโยชน์แก่สหกรณ์และสมาชิกด้วยดีเสมอมา
สำหรับขั้นตอนการจัดทำคำของบประมาณเพื่อจัดหาครุภัณฑ์สิ่งก่อสร้างที่เป็นงบลงทุน ทั้งในรูปของทรัพย์สินของรัฐ หรือการอุดหนุนงบประมาณให้กับสหกรณ์ไปดำเนินการ จะใช้หลักการเดียวกัน โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีเป็นรายการที่มีราคามาตรฐานกำหนดไว้ สำนักงบประมาณจะกำหนดราคามาตรฐานครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างดังกล่าวไว้ และจะต้องถือใช้ราคามาตรฐานนั้นในการเสนอ ของบประมาณ 2.กรณีเป็นรายการที่ไม่มีราคามาตรฐานกำหนดไว้ หน่วยงานจะพิจารณาตามบรรทัดฐานและวิธีปฏิบัติในการเสนอขอตั้งงบประมาณของหน่วยงานที่เสนอต่อสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในการจัดทำคำของบประมาณของทุกปีที่ผ่าน ๆ มา สำหรับการอุดหนุนงบประมาณให้กับสหกรณ์ จะคำนึงถึงการนำไปใช้ประโยชน์ ให้เป็นไปตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละสหกรณ์เป็นหลัก รายละเอียดคุณลักษณะของครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างของแต่ละสหกรณ์จึงไม่เหมือนกัน ทำให้ราคาที่เสนอขอตั้งงบประมาณจากสหกรณ์แต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน อาทิ ราคาของครุภัณฑ์ จะพิจารณาโดยให้สหกรณ์เสนอรายการและคุณลักษณะที่สหกรณ์ต้องการใช้ พร้อมกับแนบใบเสนอราคาจากผู้ประกอบการธุรกิจขายครุภัณฑ์ชนิดนั้นไม่น้อยกว่า 3 ราย มาใช้อ้างอิงราคาประกอบรายการเสนอของบประมาณเทียบเคียงกับราคาที่เคยได้รับอนุมัติในปีก่อน ๆ หากราคาที่ตั้งมา สูงกว่าราคาเฉลี่ยที่ใช้เป็นเกณฑ์ ในการพิจารณา กรมฯ ก็จะตั้งรายการของบประมาณให้ตามราคาที่สหกรณ์ขอมา แต่หากเป็นสิ่งก่อสร้าง หน่วยงานจะใช้แบบแปลนที่มีวิศวกรรับรอง พร้อมประมาณการราคาแสดงรายละเอียดประกอบแบบ ใช้เป็นราคาในการอ้างอิงการของบประมาณ
หลังจากนั้น กรมฯ จะรวบรวมรายละเอียดเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณไปยังสำนักงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณจะกำหนดเกณฑ์ราคาเฉลี่ย เพื่อใช้สำหรับอ้างอิงในการตั้งงบประมาณของแต่ละรายการ หากราคาตามรายการที่ขอมาต่ำกว่าราคาอ้างอิง สำนักงบประมาณจะพิจารณาจัดสรรให้ตามคำขอ แต่ถ้าราคาตามรายการที่ขอมาสูงเกินกว่าราคาอ้างอิง สำนักงบประมาณจะจัดสรรให้ตามราคาอ้างอิงเท่านั้น จากนั้นเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จะมีรายละเอียดประกอบที่ระบุรายการและจำนวนเงินอุดหนุนของครุภัณฑ์สิ่งกอสร้างที่ได้รับอนุมัติ และเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งกรมฯ จะแจ้งรายการตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ ให้สหกรณ์ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของสหกรณ์ ซึ่งเป็นร่างระเบียบที่กรมฯ กำหนดขึ้นเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยอ้างอิงจากระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ แล้วสหกรณ์จึงประกาศจัดซื้อจัดจ้างตามกระบวนการและขั้นตอนที่กรมฯ กำหนด เช่น การกำหนดราคากลาง สหกรณ์จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการและดำเนินการกำหนดราคากลางตามแนวทางของทางราชการ ส่วนขั้นตอนการพิจารณา ผลการจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับการจ้าง จะต้องมีสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์ทุกคน
สำหรับการตรวจสอบรายงานผลการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างในโครงการไทยนิยมยั่งยืน หากพบว่ามีสหกรณ์ใดที่ไม่ดำเนินการตามกระบวนการที่กรมฯ กำหนด หรือส่อไปในทางไม่โปร่งใส กรมฯ จะสั่งการให้สหกรณ์จังหวัดระงับและยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างรายการนั้นในทันที พร้อมทั้งระงับการโอนเงินให้แก่สหกรณ์ จนกว่าสหกรณ์จะดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ดังนั้น ข้อกังวลว่าสหกรณ์จะมีการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส และมีการเรียกรับผลประโยชน์จากสหกรณ์นั้น กรมฯ ขอชี้แจงว่า สหกรณ์ที่ได้รับเงินอุดหนุนทุกแห่ง จะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยอำนาจของคณะกรรมการดำเนินการ ของสหกรณ์เอง ส่วนราชการจะไม่เข้าไปแทรกแซงในทุกกระบวนการ แต่จะคอยตรวจสอบ กำกับ ติดตาม ให้สหกรณ์ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัด โดยให้ยึดถือความถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ พร้อมทั้งได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปกำกับดูแลตรวจสอบผลการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างใกล้ชิด และได้สั่งห้ามไม่ให้ข้าราชการของกรมส่งเสริมสหกรณ์ไปชี้นำในการจัดหาผู้รับจ้างหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือแอบอ้างเพื่อเรียกรับผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างของสหกรณ์โดยเด็ดขาด ซึ่งกรมฯ ได้ตั้ง ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจและติดตามนโยบายไทยนิยมยั่งยืนในส่วนกลาง เพื่อติดตามความก้าวหน้า ของโครงการเป็นระยะ และยังมีคณะทำงานกำกับติดตามงานในระดับจังหวัด ที่มีผู้ตรวจราชการกรมฯ ทำหน้าที่เป็นประธานคณะทำงานในเขตจังหวัดที่รับผิดชอบ รายงานความก้าวหน้ากลับมายังส่วนกลาง เพื่อให้การดำเนินโครงการทั้ง 3 โครงการ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายไทยนิยมยั่งยืน และสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง