กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. จัดงานสัมมนาเรื่องหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (I Code) และการวัดผลการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เพื่อส่งเสริมให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนำ I Code ไปปรับใช้เพื่อการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อสมาชิกกองทุน รวมทั้งส่งเสริมให้ PVD ใช้ตัวชี้วัดที่เหมาะสมในการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน
เมื่อวันที่ 19 และ 28 มิถุนายน 2561 ก.ล.ต. จัดงานสัมมนาเรื่อง I Code และการวัดผลการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้กับคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กว่า 200 คน ที่สำนักงาน ก.ล.ต.
PVD มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนระยะยาว เพื่อให้สมาชิก PVD มีเงินพอใช้ในวัยเกษียณ ในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. ส่งเสริมให้ PVD ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน พิจารณานำ I Code ไปปรับใช้ในการบริหารเงินของสมาชิก PVD โดย I Code เป็นแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันในการลงทุนโดยเน้นการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน ควบคู่กับการลงทุนอย่างรับผิดชอบ คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของกิจการที่ไปลงทุน ซึ่งในปัจจุบัน PVD โดยรวมมีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 1 ล้านล้านบาทนับเป็นแรงผลักดันในตลาดทุน (market force) ที่สำคัญในการดูแลตลาดทุน และ PVD ขนาดใหญ่ 5 แห่ง รวมทั้ง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม ได้ประกาศรับที่จะนำ I Code ไปปรับใช้แล้ว และ ก.ล.ต. และสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะดำเนินการเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้กองทุนต่าง ๆ เข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นอีกตามลำดับ
กลต. ได้ส่งเสริมอย่างต่อเนื่องให้ PVD มีการออมเต็มพิกัด 15% และมีการจัดแผนการลงทุนที่เหมาะสม และยังส่งเสริมให้ PVD มีการใช้ตัวชี้วัดผลการลงทุนของกองทุนที่เหมาะสม เพื่อให้การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนมีประสิทธิภาพ โดยในการวัดผลการลงทุนของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นพบว่าPVD นำดัชนีราคาหุ้น (SET Index) มาใช้เป็นตัวชี้วัด อย่างไรก็ดี การใช้ SET Index อาจไม่ใช่การเปรียบเทียบที่เหมาะสม เนื่องจาก SET Indexมิได้มีการนำรายได้จากเงินปันผลมารวมคำนวณไว้ด้วย ในขณะที่การคำนวณผลการลงทุน ของกองทุนหุ้นจะนำเงินปันผลมารวมคำนวณไว้ด้วยเสมอ ดังนั้น ก.ล.ต. จึงส่งเสริมให้ PVD ใช้ดัชนีชี้วัดผลตอบแทนรวม (SET TRI) ซึ่งรวมรายได้จากเงินปันผลในการคำนวณ มาใช้ในการประเมินผลงานแทนกองทุน เนื่องจากมีความเหมาะสมและเที่ยงตรงมากกว่า
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า "PVD มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาคนไทยมีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ ซึ่งเป็นปัญหาทางสังคมของไทย ก.ล.ต. ต้องการส่งเสริมให้ PVD มีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักดันจากทุกภาคส่วน ทั้งจากสมาชิก PVD ที่เป็นลูกจ้างในบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องมีวินัยในการออมและต้องรู้จักลงทุนให้เงินของตนงอกเงย และจากผู้ที่เป็นกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อที่จะทำให้ PVD เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สมาชิก PVD สามารถบรรลุเป้าหมายให้มีเงินพอใช้ในระยะยาวได้"