กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท ซีแอลพี อินโนเวชั่น เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ดำเนินโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะและโซลูชั่นด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือไมโครกริด เพื่อจัดหาพลังงานที่เชื่อถือได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรองรับสภาวะการเติบโตอุตสาหกรรมและความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่จะต้องมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการป้องกันปัญหาไฟตก ไฟดับ หรือการผลิต – จ่ายไฟฟ้าที่ไม่พียงพอในบางพื้นที่ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเริ่มนำร่องในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งจะมีความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ ระบบมิเตอร์อัจฉริยะ ไฟถนนอัจฉริยะ ระบบเครือข่ายเครื่องเติมประจุไฟฟ้าในรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.มีเป้าหมายในการพัฒนานิคมฯ ให้ก้าวส่ารเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีความอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) ล่าสุดได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท ซีแอลพี อินโนเวชั่น เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานไฟฟ้าของฮ่องกง ดำเนินโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะและโซลูชั่นด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Smart City and Microgrid Solutions) ในนิคมอุตสาหกรรมใหม่และนิคมอุตสาหกรรมเดิม โดยมีเป้าหมายในการจัดหาพลังงานที่เชื่อถือได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีราคาที่แข่งขันได้ ซึ่งสอดรับกับกระแสโลกที่ให้ความสำคัญกับการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ นอกจากนี้ ยังจะช่วยรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมและความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่จำเป็นต้องมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการป้องกันปัญหาไฟตก ไฟดับ หรือการผลิต – จ่ายไฟฟ้าที่ไม่พียงพอในบางพื้นที่
นายอัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กนอ. ได้เลือกนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะและโซลูชั่นด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งทั้ง กนอ. กฟภ. และบริษัท ซีแอลพีฯ จะร่วมมือกันพัฒนาในด้านต่างๆ ต่อไปนี้
1. แพลตฟอร์มเปิดระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid Platform)
2. การจัดการการควบคุมการจ่ายไฟฟ้าอัตโนมัติ (Distribution automation) และการสนองด้านโหลด (Demand response) ในสภาพแวดล้อมระบบไมโครกริด (Microgrid environment)
3. เครือข่ายจ่ายพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ (Intelligent power distribution network) โครงข่ายการสื่อสาร (Communication network) สถานีย่อยดิจิทัล (Digital substations)
4. โซลูชั่นด้านการจัดการแหล่งพลังงานสะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป (Distributed energy resources) รวมถึงพลังงานหมุนเวียน (Renewable) ระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนหรือความเย็นร่วม (Combined cooling, heating and power: CCHP) การเก็บกักพลังงาน (Energy storage) พลังงานจากขยะ(Waste-to-energy) พลังงานที่เกี่ยวข้อง (Associated energy)
5. ระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (Advanced metering infrastructure)
6. ระบบเครือข่ายเครื่องเติมประจุไฟฟ้าในรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (Electric vehicle charging network) และระบบการจัดการ
7. ระบบเครือข่ายไฟถนนอัจฉริยะ (Smart street lighting network) และระบบการจัดการ
8. โซลูชั่นด้านการจัดการพลังงานและโรงงานสำหรับลูกค้าอุตสาหกรรม
ด้าน นายสมพงษ์ ปรีเปรม รองผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟภ. ได้พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะภายใต้ PEA Smart Grid Roadmapโดยสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ และแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจว่าระบบของ กฟภ. สามารถเชื่อมโยงและทำงานร่วมกับการไฟฟ้าอื่นๆ ได้ ทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศอีกด้วย โดย กฟภ. มีแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ประกอบด้วย การติดตั้งระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) ระบบสถานีไฟฟ้าอัตโนมัติ ระบบ IT Integration ระบบแก้ไขปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Microgrid) และแผนการจัดทำโครงการ Demand Response ของ กฟภ. ซึ่งจากแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ของ กฟภ. จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่าง กฟภ. กนอ. และบริษัท ซีแอลพี เพื่อจัดตั้งโครงการSmart Industrial Estates และ Microgrid Solutions ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาและทดสอบรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดหาพลังงานที่เชื่อถือได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีราคาที่แข่งขันได้ โดยจะศึกษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีต่างๆ โดย กฟภ. จะรับผิดชอบในการให้ข้อมูลด้านระบบไฟฟ้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม แนวทางเกี่ยวกับโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม รวมถึงให้ข้อเสนอแนะและแนวทางการออกแบบ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในแต่ละพื้นที่ดำเนินการ สำหรับ กนอ. จะเป็นผู้จัดหาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของโครงการ และนโยบายเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม 4.0 และบริษัท ซีแอลพี จะรับผิดชอบในการออกแบบโครงสร้างและโมเดลเชิงพาณิชย์ของโซลูชั่นส์ด้านนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
ขณะที่ นายดิเรก ปาร์คกิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า บริษัท ซีแอลพี อินโนเวชั่น เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของฮ่องกง ส่งไฟฟ้าให้กับฮ่องกง รวมกันคิดเป็นปริมาณมากกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยปัจจุบันบริษัทฯ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเทคโนโลยีการใช้พลังงานทดแทนแบบหมุนเวียน มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วยระบบการทำงานที่สามารถรองรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ในระบบเดียวกันเพื่อป้องกันปัญหาการไม่เสถียรของสภาพอากาศ เช่นในวันที่ท้องฟ้าปิดไม่มีแสงอาทิตย์ ก็สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ หรือในวันที่ไม่มีลม ก็สามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ โดยทั้งนี้ บริษัทฯ จะได้นำร่องทดลองติดตั้งและทดสอบระบบไมโครกริด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เพื่อเป็นการเพิ่มความเชื่อถือได้เสถียรของระบบไฟฟ้า โดยระบบไมโครกริดนั้นประกอบด้วยระบบผลิตไฟฟ้าภายในซึ่งในกรณีที่เกิดปัญหาขัดข้องกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ระบบไมโครกริดจะสามารถปลดตัวเองออกมาเป็นอิสระ และยังคงการจ่ายไฟฟ้าให้กับโหลดที่มีความสำคัญภายในได้บางส่วน โดยอาศัยแหล่งผลิตไฟฟ้าภายในระบบไมโครกริด และระบบกักเก็บพลังงาน ผู้ใช้ไฟฟ้าในระบบไมโครกริด สามารถกำหนดคุณภาพไฟฟ้า ความมั่นคงและความเสถียรของระบบไฟฟ้า
เมื่อเร็วๆนี้ กนอ. กฟภ. และบริษัท ซีแอลพี อินโนเวชั่น เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะและโซลูชั่นด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก ณ ห้องประชุมชั้น 23 ตึก LED การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่ งามวงศ์วาน
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองประชาสัมพันธ์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 0 2253 0561 ต่อ 1193