กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา เดินหน้าสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ ดึงศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศสแลกเปลี่ยนการเรียนการสอนทางเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ เล็งส่งอาจารย์-นักศึกษาฝึกงาน เปิดประสบการณ์ต่างแดน
ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ อาจารย์โปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ ตนมีโอกาสเดินทางไปราชการเพื่อทำวิจัยร่วมกับ Prof. Guy Louarn ที่สถาบันวิจัย Institute of Materials Jean Rouxel ณ Universite du Nantes (IMN) ประเทศฝรั่งเศส เป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส (Centre national de la recherche scientifique, CNRS) ขณะทำวิจัยยังได้รับเชิญจาก Ecole Polytechnique de l'Universite de Nantes เป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับยางธรรมชาติ การแปรรูป สมบัติของผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Natural rubber: Properties, Processing and Applications) ให้กับนักศึกษาและอาจารย์ต่างชาติ ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองในการได้รับความรู้และประสบการณ์ในด้านการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการวิเคราะห์โครงสร้างของพอลิเมอร์ด้วยเทคนิคใหม่ ๆ แล้ว ยังส่งผลให้เกิดประโยชน์กับนักศึกษา มรภ.สงขลา ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำมาปรับใช้ในด้านการเรียนการสอนและการวิจัยได้
ผศ.ดร.พลพัฒน์ กล่าวว่า ผลสืบเนื่องจากการเดินทางไปปฏิบัติราชการครั้งนี้ ก่อให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือด้านวิชาการระหว่าง มรภ.สงขลา กับฝรั่งเศส ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคณาจารย์ท่านอื่นที่สนใจจะสร้างความร่วมมือต่อจากนี้ โดยได้ดำเนินการร่วมกันใน 3 กิจกรรมคือ กิจกรรมที่ 1 โปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ได้เชิญ Prof. Guy Louarn บรรยายพิเศษเรื่อง Long Term Mechanical Properties of Virgin and Recycled Polyolefins: A case study Applied to Water Pipe Systems ในงานสัมมนาความร่วมมือด้านวิจัยและวิชาการทางเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ โดยมีผู้สนใจเป็นอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาของ มรภ.สงขลา และมหาวิทยาลัยทักษิณ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนอาจารย์ผู้สอนภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศครั้งแรกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งแตกต่างจากกิจกรรมความร่วมมือของ มรภ.สงขลากับประเทศฝรั่งเศสที่ผ่านมา ที่เป็นการบรรยายโดยวิทยากรต่างชาติเพียงอย่างเดียว
อาจารย์โปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมที่ 2 ได้มีการประชุมหารือความร่วมมือระหว่างโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์กับ Ecole Polytechnique de l'Universite de Nantes เรื่องความร่วมมือด้านการเรียนการสอน โดยคาดว่าจะแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษาฝึกงานระหว่างกันเป็นกิจกรรมแรกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และ กิจกรรมที่ 3 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านงานวิจัยกับอาจารย์ของ มรภ.สงขลา โดยเฉพาะด้านพอลิเมอร์และฟิสิกส์ประยุกต์
อาจารย์โปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ กล่าวในตอนท้ายว่า จากการที่เคยมีผลงานวิจัยร่วมกับทีมวิจัยฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ตนได้รับทุน CNRS จากรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อทำวิจัยที่ IMN ในครั้งนี้ ซึ่งแตกต่างจากทุนวิจัยร่วมกับประเทศฝรั่งเศสทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นนักวิชาการไทยคนแรกที่ได้รับการเชิญจาก Ecole Polytechnique de l'Universite de Nantes ให้ไปบรรยายแก่นักศึกษาในสาขาวัสดุศาสตร์ การสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับนักวิจัยฝรั่งเศส ถือเป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย ที่ให้มีการแลกเปลี่ยนผู้สอนและนักวิจัยกับต่างประเทศ เกิดเป็นผลสืบเนื่องด้านความร่วมมือระหว่างโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ Ecole Polytechnique de l'Universite de Nantes ซึ่งต้องขอขอบคุณ CNRS รัฐบาลฝรั่งเศส IMN, Ecole Polytechnique de l'Universite de Nantes และ มรภ.สงขลา ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมทั้งหมดด้วยดีตลอดมา