กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
มทร.ธัญบุรี ร่วมกับมูลนิธิรากแก้ว จัดกิจกรรมเสริมทักษะการเรียนรู้และการทำงานร่วมกับชุมชนพื้นที่บึงกาสาม อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี เรียนรู้วิถีชีวิต ศึกษาข้อมูลและช่วยพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ภายใต้โครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยพลังนิสิตนักศึกษา
ตลอดระยะเวลา 4 วันหลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นมีประโยชน์ทั้งตัวนักศึกษาและผู้คนในชุมชน เสียงสะท้อนจาก 2 นักศึกษาชั้นปี 3 วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เริ่มต้นจาก น.ส.สุนิตา หมีทองหลาง "กิ๊ก" เผยว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย พระองค์ทรงเน้นย้ำการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นจากปัญหาและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงตามบริบทต่าง ๆ
"การช่วยชุมชนบึงกาสามครั้งนี้ ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ เช่นในเรื่องความมีเหตุผล พิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เพื่อการค้นหาปัญหาและแนวทางการแก้ไขพัฒนาชุมชน ผ่านการทำงานเป็นกลุ่ม ซึ่งพบว่าชุมชนมีปัญหาในการจัดการขยะ จึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งโครงการธนาคารปุ๋ย สร้างกระบวนการภายในครัวเรือนให้มีจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ เพื่อเข้าสู่ธนาคาร คัดแยกบางส่วนเช่นขยะเปียกนำมาทำเป็นปุ๋ยเพื่อเพิ่มมูลค่าขยะสู่การมีรายได้เพิ่มเติมต่อไป"
ส่วน น.ส.สุนิสา หมีทองหลาง "กุ๊ก" เล่าว่าจากการสำรวจข้อมูลชุมชนพบปัญหาในลักษณะเดียวกัน จึงได้บูรณาการร่วมกับกลุ่มดังกล่าวเพื่อจัดการปัญหาขยะในชุมชน และมองว่าปุ๋ยหมักชีวภาพ มีต้นทุนต่ำ สามารถทำใช้เองและขายเป็นผลผลิตได้ ซึ่งได้มาจากเศษอาหารในครัวเรือน และคนในชุมชนเองก็มองเห็นประโยชน์ของปุ๋ยในทิศทางเดียวกัน นั่นคือความปลอดภัยและเป็นการลดใช้สารเคมี เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก และเผยว่า "ดีใจที่ได้ส่งต่อความรู้เพื่อช่วยเหลือชุมชน และคิดว่าพลังของชุมชนสามารถเปลี่ยนสังคมและเปลี่ยนประเทศให้มีทิศทางที่ดีได้"
ขณะที่หนุ่มศิลปกรรมศาสตร์ ชั้นปี3 นายอนันตพันธ์ ปิ่นน้อย "บลู" แสดงความเห็นต่อกิจกรรมว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนรู้ ได้ไปสัมผัสและพักอาศัยกับคนในชุมชนอย่างจริงจัง เห็นวิถีการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะในอาชีพเกษตรกร ที่ต้องอดทนและเพียรพยายามสูงเพื่อให้ผลผลิตออกดอกออกผลอย่างที่ตั้งใจ ภายใต้กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าขึ้น ซึ่งต่างก็ต้องปรับตัว เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำมาพัฒนาในอาชีพต่อไป "ขอเป็นกำลังใจให้กับคนในชุมชน สร้างผลผลิตแปรรูปสินค้าต่าง ๆ ให้มีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค และมองว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน"
ปิดท้ายที่ นายเจตจรัญ บุญนาน "โอ" มองว่า การจะเข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง ต้องไปใช้ชีวิตร่วมกับพวกเขาเหมือนกับกิจกรรมนี้ ผู้คนในชุมชนคือครู ที่สอนและให้ประสบการณ์ชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันนักศึกษาต่างก็นำองค์ความรู้ มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ฝึกคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหา ด้วยการลงมือปฏิบัติ โดยได้ร่วมวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน พบว่าชุมชนขาดองค์ความรู้และการบริหารจัดการผลผลิตการเกษตร จึงได้เสนอโครงการเครือข่ายช่วยเหลือชาวสวนบึงกาสาม เพื่อให้เกิดเครือข่าย การปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหา สะสมองค์ความรู้ เพราะความเป็นเครือข่ายจะทำให้เกิดพลังและความร่วมมือที่ดี "ขอบคุณ มทร.ธัญบุรี มูลนิธิรากแก้วและชุมชนบึงกาสามที่ทำให้กิจกรรมการเรียนรู้ที่สนุกและเป็นการพัฒนาชุมชนด้วยศาสตร์ของพระราชา"