กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม(STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการบังคับใช้โทษประหารชีวิตกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย" สำรวจระหว่างวันที่ 23 ถึง 28 มิถุนายน พ.ศ.2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,193 คน
หลังจากที่กรมราชทัณฑ์บังคับโทษประหารชีวิตกับนักโทษเด็ดขาดซึ่งเป็นการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี นับจากวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552 จึงทำให้ประเด็นเรื่องการยกเลิกหรือไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิตกลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้งหนึ่งและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้เคยลงนามปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยปริยายหากไม่มีการประหารนักโทษเป็นเวลา 10 ปีติดต่อกัน ซึ่งกำลังจะมีผลกับประเทศไทยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 แต่จากบังคับโทษประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดรายล่าสุดจึงส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตต่อไป
ขณะเดียวกันกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตโดยให้เหตุผลว่าโทษประหารชีวิตเป็นโทษที่ร้ายแรงและการบังคับใช้โทษประหารชีวิตมิได้ทำให้การก่อคดีอาชญากรรมลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมจำนวนมากได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สนับสนุนให้มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตในประเทศไทยต่อไปเพื่อเป็นการป้องปรามให้ผู้คิดที่จะกระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว รวมถึงเป็นการลงโทษที่เหมาะสมกับการก่อคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรงสะเทือนขวัญ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการบังคับใช้โทษประหารชีวิตกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.38 เพศชายร้อยละ 49.62 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นต่อความเหมาะสมในการยกเลิกการบังคับใช้โทษประหารชีวิตในประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 86.92 มีความคิดเห็นว่าการยกเลิกการบังคับใช้โทษประหารชีวิตในทุกกรณียังไม่มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน โดยมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 9.22 ที่มีความคิดเห็นว่ามีความเหมาะสมแล้ว ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.86 ไม่แน่ใจ
ส่วนความคิดเห็นต่อการบังคับใช้โทษประหารชีวิตกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 82.06 มีความคิดเห็นว่าการบังคับใช้โทษประหารชีวิตกับนักโทษที่ก่อคดีร้ายแรง/คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ (ค้ายาเสพติด ฆ่าชิงทรัพย์ ฆ่าข่มขืน ฆ่ายกครัว) ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.66 ระบุว่าถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.28 ไม่แน่ใจ
ในด้านความคิดเห็นต่อการบังคับใช้โทษประหารชีวิต กลุ่มตัวอย่างถึงสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.61 เห็นด้วยว่าการบังคับใช้โทษประหารชีวิตจะช่วยป้องปรามให้ผู้ที่จะกระทำความผิดเกิดความเกรงกลัวได้มากกว่าการบังคับใช้โทษอื่นๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.27 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.12 ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.01 มีความคิดเห็นว่าการบังคับใช้โทษประหารชีวิตจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเตือนให้ผู้คนในสังคมตื่นตัวในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 79.13 กังวลว่าหากมีการยกเลิกการบังคับใช้โทษประหารชีวิตจะทำให้ปัญหายาเสพติด/การก่ออาชญากรรม/คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญในประเทศไทยมีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.51 และร้อยละ 72.34 มีความคิดเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดจะมีส่วนช่วยลดโอกาสการบังคับใช้โทษประหารชีวิตในอนาคตลงไปได้
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78.29 มีความคิดเห็นว่ากลุ่มนักสิทธิมนุษยชนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการยกเลิกการบังคับใช้โทษประหารชีวิตยังไม่มีความเข้าใจลักษณะสภาพสังคมไทยอย่างเพียงพอ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.08 มีความคิดเห็นว่าหากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการยกเลิกการบังคับใช้โทษประหารชีวิตสามารถเสนอแนวทางป้องกัน/แก้ไขปัญหาการกระทำความผิด/ก่อความรุนแรงต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ จะมีส่วนช่วยทำให้สังคมสนับสนุนข้อเรียกร้องเพิ่มมากขึ้นได้ (อ่านข่าวต่อ https://bit.ly/2KzX8Gh)
หมายเหตุ: การสำรวจสาธารณะนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปขัดแย้งกับผู้ใดหรือหน่วยงานใด เป็นเพียงแต่การสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนในสังคมส่วนหนึ่งผ่านการวิจัยตามหลักวิชาการเท่านั้น