กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัว "กิจกรรมปรึกษาแนะนำเชิงลึก การพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม" ภายใต้ "กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ในโครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทย"เน้นพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบของเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอนาคต (S-Curve) เพื่อสร้างคุณค่าในสินค้าและบริการ (Value Creation) และต่อยอดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ในระดับสากลซึ่งจะเป็นส่วนช่วยผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์(creative Industries) ให้ก้าวหน้าและส่งผลต่อการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นางสาวนฤมล ศิริทรงธรรม นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตส์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกประจำปี 2560 เป็นจำนวนเงิน 22,360 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 738,037 ล้านบาท ) แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออกในสาขาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 462,098 ล้านบาท) สาขาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 221,147 ล้านบาท) สาขาอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง 1,660 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 54,791 ล้านบาท) แต่ในปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่ยังดำเนินธุรกิจแบบผู้รับจ้างผลิตให้กับลูกค้า (OEM) อีกทั้งยังขาดความรู้ความเข้าใจในด้านการออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) ที่ใช้แนวคิดออกแบบเชิงสร้างสรรค์สำหรับสร้างคุณค่าในสินค้าและบริการ (Value Creation) หรือใช้ในการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิต
อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจ SMEs โดยการส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น คือ การลดปริมาณของเสีย การลดลงของต้นทุนการผลิต หรือมูลค่าของยอดขายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการจนสามารถพัฒนาศักยภาพในการสร้างแบรนด์ของตนเองให้ตรงกับ ความต้องการของลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้ต่อไป (Shift from OEM to ODM to OBM)กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยด้านการจัดการยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินกิจกรรมปรึกษาแนะนำเชิงลึกการพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภายใต้กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และ/หรืออุตสาหกรรมเครื่องเรือนและ ของตกแต่ง และในอุตสาหกรรมอนาคต (S-Curve) กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุขให้มีผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้นและ/หรือมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นที่นำแนวคิดการออกแบบเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างคุณค่าในสินค้าหรือบริการ (Value Creation) และต่อยอดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากล
"อุตสาหกรรมแฟชั่นถือได้ว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระดับต้น ๆเนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการรวมกันมากกว่า 1 แสนราย ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 8 แสนคน มีมูลค่าการลงทุนและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ประกอบด้วย 3 กลุ่ม 1.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม2.อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และ 3.อุตสาหกรรมเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์หนัง ซึ่งจากข้อมูลเอสเอ็มอี ของอุตสาหกรรมแฟชั่น พบว่ามีจำนวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยทั้งสิ้น 11,237 ราย แบ่งเป็น รายเล็ก 11,023 ราย และผู้ประกอบการขนาดกลาง 214 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการภาคการผลิต 6,438 ราย และภาคการค้า 4,799 ราย โดยในจำนวนผู้ประกอบการภาคการผลิตสามารถแบ่งเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม จำนวน 4,038 ราย อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจำนวน 1,263 ราย และอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง จำนวน 1,137 ราย ดังนั้น เห็นได้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเป็นพลวัตสูงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้เป็นอย่างดี" นางสาวนฤมล กล่าว
นางสาวนฤมล ศิริทรงธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวมุ่งหวังให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งประกอบด้วย เอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอนาคต (S-Curve)ที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพและอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข จำนวนไม่น้อยกว่า 50 กิจการ รวมทั้งนักออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Designer) จำนวนไม่น้อยกว่า 25 ราย ได้เกิดการพัฒนาและสร้างโอกาสในการนำเสนอแนวคิดการออกแบบเชิงสร้างสรรค์มาต่อยอดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน