กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ NIA ร่วมกับ บิสเนส ฟรานซ์ (ฝ่ายการค้าและพาณิชย์) สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จัดงาน THAI-FRENCH SMART CITY FORUM เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระหว่างสองประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศ (eco-system) เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาย่านนวัตกรรม โดยได้รับเกียรติจากมิสเตอร์ จิลส์ การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมเปิดงาน ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การจัดงาน THAI-FRENCH SMART CITY FORUM ในครั้งนี้ เป็นการรวมตัวของผู้แทนหน่วยงานด้านเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วิศวกร ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ที่ปรึกษา รวมถึงหน่วยงานภาครัฐด้านการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและเมืองอัจฉริยะ เช่น NIA สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยภายในงานเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากประเทศไทยได้พบปะกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกด้านเมืองอัจฉริยะจากประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ ACOEM, ARTELIA, BOUYGUES-THAI, DASSAULT SYSTEMS, DEXTRA, EDF INTERNATIONAL NETWORKS, EGIS, ENGIE, MICHELIN, PLATT NERA-SIGFOX, SCHNEIDER ELECTRIC, SAINT-GOBAIN, SUEZ และ VEOLIA จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้แทนจากประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสในการหารือทางเทคนิคเกี่ยวกับโครงการเมืองอัจฉริยะและย่านนวัตกรรมที่กำลังดำเนินการพัฒนาอยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ จะมีการบรรยายพิเศษจากกลุ่มบริษัทเอกชน Frasers – TCC และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเสนอโครงการ One Bangkok และโครงการเมืองแห่งใหม่ในเขตอุตสาหกรรมของจังหวัดชลบุรี ตามลำดับ และผู้แทนจากบริษัทเทคโนโลยีประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ Dassault Systemes, Engie, Saint-Gobain และ Schneider Electric นำเสนอโซลูชั่นเมืองอัจฉริยะและตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ในการยกระดับนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ที่ NIA ดำเนินการอยู่นั้น ได้มุ่งเน้นให้เกิดการยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้เกิดพื้นที่นวัตกรรมทั้งระดับภูมิภาค เมือง และย่าน โดยจะพัฒนาใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม การบริหารทรัพยากรเพื่อให้เกิดพื้นที่นวัตกรรม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งในปัจจุบัน NIA ได้วางเป้าหมายในการพัฒนา "ย่านนวัตกรรม" ทั้งกรุงเทพฯ และภูมิภาครวม 15 ย่าน แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 8 ย่าน ได้แก่ โยธี คลองสาน ปทุมวัน กล้วยน้ำไท ลาดกระบัง ปุณวิถี บางซื่อ และรัตนโกสินทร์ ส่วนในภูมิภาค 7 ย่าน ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น บางแสน ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา-บ้านฉาง ภูเก็ต โดยมีเป้าหมายหลักในการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของย่าน และการแพร่กระจายนวัตกรรม (Diffusion) ดึงดูดทุนมนุษย์ทางนวัตกรรมทั้งที่เป็นสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และนวัตกร ให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการรูปแบบใหม่ที่มีศักยภาพสูง รวมทั้งการสร้างงานแห่งอนาคต ซึ่งในแต่ละย่านจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือระหว่าง NIA และฝรั่งเศส ได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ร่วมกันมากว่า 3 ปีแล้ว และในการจัดกิจกรรมร่วมกันในปีนี้ จะมีความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ
- การอาศัยความร่วมมือกับบริษัท Dassault ซึ่ง NIA ได้นำระบบและองค์ความรู้ด้าน 3D มาออกแบบผังเมืองของย่านนวัตกรรมทั้ง 15 ย่านทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้ส่งต่อถึงหน่วยงานด้านผังเมืองในประเทศไทยให้ได้รับองค์ความรู้เหล่านั้น และนำไปต่อยอดการพัฒนาด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังได้นำความรู้ด้านระบบ 3D เข้าสู่การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในจังหวัดเชียงใหม่
- การร่วมกับบริษัท แอร์บัส (AIRBUS) พัฒนาด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับท้องฟ้าและอวกาศ (Sky Ecomomy) เช่น นวัตกรรมด้านระบบดาวเทียม ธุรกิจการบินและอวกาศ ฯลฯ โดยในอนาคตจะมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาด้านดังกล่าวในกรุงเทพมหานคร หรือ ศรีราชา ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในเร็วๆนี้
- การร่วมกับบริษัท PARIS & CO ในการนำโมเดลด้านการพัฒนาสมาร์ทพีเพิล (Smart People) หรือคนอัจฉริยะ สู่ CHIANG MAI & CO บนนถนนท่าแพ ที่จะมีการตั้งหน่วยงานส่งเสริมสตาร์ทอัพ การวิจัย การทำสมาร์ทวีซ่า ตลอดจนยังเป็นศูนย์ที่จะอำนวยความสะดวกสำหรับสตาร์ทอัพหรือผู้ดำเนินธุรกิจนวัตกรรมที่ต้องการขยายสู่ประเทศไทย
- การร่วมกับเทศบาลนครปารีส โดย NIA ได้ศึกษาดูงานจากเมืองดังกล่าว ในการส่งเสริม Mixed use หรือการใช้ประโยชน์พื้นที่แบบผสมผสาน การเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งเชิงกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อทำให้พื้นที่เกิดการใช้งานได้ต่อเนื่องกัน และรองรับการเติบโตของเมืองในระยะยาว ซึ่งจะนำโมเดลดังกล่าวไปปรับใช้ในย่านนวัตกรรม เช่น ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไทกับบริเวณพื้นที่ถนนพระราม 4 ย่านนวัตกรรมโยธีกับพื้นที่ซอยรางน้ำ นอกจากนี้ ยังได้นำโมเดลการจัดตั้งศูนย์ Startup Nation มาสู่ประเทศไทย ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแหล่งดึงดูดสตาร์ทอัพทั่วโลกให้เข้าสู่ประเทศ โดยมีนัยสำคัญคือ จะช่วยให้สตาร์ทอัพของไทยได้เรียนรู้โมเดลธุรกิจของต่างชาติ และเป็นการช่วยฝึกภาษาอังกฤษในด้านการติดต่อธุรกิจของสตาร์ทอัพไทย
- การนำโมเดล Station F ฮับสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ของปารีส สู่การพัฒนาศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพในไทย โดยจะนำพื้นที่เดิมที่มีอยู่แล้ว หรือเมืองเก่ามารังสรรค์ให้เป็นศูนย์ส่งเสริมสตาร์ทอัพ ซึ่งปัจจุบันมีบางพื้นที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น อาคารในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล้วยน้ำไท ที่พัฒนาให้เป็นศูนย์อำนวยความสะดวกด้าน Urban tech เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือfacebook.com/niathailand