กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 77.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 5.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 71.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 82.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 86.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- การต่อสู้ชิงอำนาจระหว่างรัฐบาลลิเบียกับกลุ่มติดอาวุธ Libyan National Army (LNA) ส่งผลให้ท่าส่งออก Zueitina (ปริมาณส่งออก 150,000 บาร์เรลต่อวัน) ประกาศหยุดรับเรือบรรทุกน้ำมันที่ทำสัญญาซื้อขายกับ National Oil Corp. (NOC) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมือง Tripoli หลังกองกำลัง Libyan National Army(LNA) ประกาศตั้ง NOC ของตนเอง ที่เมือง Benghazi เพื่อควบคุมท่าส่งออกทั้งหมดทางตะวันออกของประเทศ ความขัดแย้งข้างต้นอาจทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากลิเบียลดลง
- กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เร่งรัดให้ประเทศคู่ค้าผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ลดการซื้อน้ำมันดิบ และท้ายที่สุดยุติการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. 61 และประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ ล่าสุดโรงกลั่นน้ำมันของญี่ปุ่นจะหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ตั้งแต่เดือน ต.ค. 61 เป็นต้นไปขณะที่กระทรวงน้ำมันอินเดียเรียกประชุมโรงกลั่นในประเทศ วันที่ 28 มิ.ย. 61 ให้เตรียมลดการนำเข้าหรืออาจหยุดนำเข้าทั้งหมดตั้งแต่เดือน พ.ย. 61 เป็นต้นไป
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 มิ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9.9ล้านบาร์เรล ลดลงต่อสัปดาห์มากสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 59 มาอยู่ที่ 416.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากอัตราการกลั่นเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.8% มาอยู่ที่ 97.5% สูงสุดในรอบ 17 ปี
- วันที่ 23 มิ.ย. 61 แหล่งผลิต Oil Sand (ทรายน้ำมัน) ของบริษัท Syncrude (กำลังการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน) ในแคนาดาประสบปัญหาทางเทคนิค ส่งผลให้กำลังการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการอย่างน้อยจนถึงเดือน ก.ค. 61 นักวิเคราะห์ของ Barclays คาดการผลิตไตรมาส 3/61 จะลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อน 305,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 215,000 บาร์เรลต่อวัน
- Baker Hughes Inc. บริษัทลูกของ General Electric Co. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 29 มิ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4 แท่น มาอยู่ที่ 858 แท่น
- CFTC รายงานสถานะการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่กรุงนิวยอร์ก และ ICE ที่กรุงลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 มิ.ย.61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Positon) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 75,075 สัญญา มาอยู่ที่ 415,754 สัญญา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- การประชุมของกลุ่ม OPEC ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 61 มีมติเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันตั้งแต่เดือน ก.ค. 61 เพื่อให้อัตราความร่วมมือในการลดปริมาณการผลิตอยู่ที่ระดับ 100% (ปริมาณการผลิตเดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ 29.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบเท่ากับระดับความร่วมมือที่ 150%)
- บริษัท Saudi Aramco (ผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 3 ของโลก) ของซาอุดิอาระเบียเผยว่าปัจจุบันซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันประมาณ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ยังมีกำลังการผลิตสำรองกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่สามารถผลิตได้เพิ่มเติม เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น หากอุปทานน้ำมันดิบขาดแคลน (Reutersคาดการณ์ ในเดือน ก.ค. 61 ซาอุดิอาระเบียจะผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 200,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์)
- ICE รายงานสถานะการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่กรุงลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 มิ.ย. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับNet Long Positon ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5,231 สัญญา มาอยู่ที่ 453,218 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบเช้านี้ (10.30 น.) ลดลงรุนแรง โดย ICE Brent เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 78.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เทียบกับราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่79.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังช่วงสุดสัปดาห์ ทำเนียบขาวยืนยันว่าพระราชาธิบดี Salman bin Abdulaziz Al Saud แห่งซาอุดีอาระเบียให้คำมั่นกับประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐฯ ว่าจะเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบขึ้น 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากสถานการณ์จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพ มิให้เกิดการขาดตลาด ตอกย้ำกับที่นาย Trump กล่าวใน Twitter ก่อนหน้านี้ แต่ทางการซาอุฯ ยังมิได้ออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานจากแหล่งข่าววงในว่าซาอุฯ จะผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพียง 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน Energy Aspects ชี้ว่าในทางปฏิบัติแล้ว การดึงกำลังการผลิตส่วนเหลือ (Spare Capacity) ของซาอุฯ กว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินการต้องใช้เวลาเกือบปีและเพิ่มเงินลงทุน ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุฯ นายKhalid al-Falih มีกำหนดเยือนกรุง Washington ของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีนี้เพื่อหารือกับนาย Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีรายละเอียดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบได้แรงหนุนจากสถานการณ์ด้านอุปทานน้ำมันดิบโลก ได้แก่การคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่สหรัฐฯ เร่งให้บรรลุผลในอนาคตอันใกล้นี้ และปัญหาอุปทานน้ำมันดิบชะงักงันในลิเบียที่มีแนวโน้มยืดเยื้อหลังการแตกแยกของขั้วอำนาจทำให้เกิดการแย่งชิงผลประโยชน์จากการขายน้ำมันดิบ ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาด ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 76.0-81.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 71.0-76.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73.0-78.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของบริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียและ บริษัท Petrolimex ของเวียดนาม ประกอบกับ บริษัท JXTG Nippon Oil & Energy Corp. เลื่อนกำหนดกลับมาดำเนินการ CDU No.1 (กำลังการกลั่น 162,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่นน้ำมัน Kashima และ CDU PS-2 ( กำลังการกลั่น 170,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Kawasaki จากเดิมต้นเดือน ก.ค. 61 เนื่องจากต้องใช้เวลาปิดซ่อมบำรุงเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามโรงกลั่นน้ำมัน Osaka(115,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท JXTG Nippon Oil & Energy กลับมาเดินเครื่องหลังปิดดำเนินการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 61 จากเหตุแผ่นดินไหว และ Plattsประเมินจากผลสำรวจว่าบริษัท Sinopec, PetroChina, Sinochem และ China National Offshore Oil Corp. (CNOOC) เพิ่มอัตราการกลั่นในเดือน มิ.ย. 61 จากเดือนก่อน 3% มาอยู่ที่ 79% ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 120,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.19 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 81.0-87.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น จาก Arbitrage ส่งออกน้ำมันดีเซลจากเอเชียไปตะวันตกเปิดโดย Platts รายงาน บริษัท BP ของอังกฤษ ส่งออกน้ำมันดีเซลจากเกาหลีมายังอังกฤษ ปริมาณ 2 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ก.ค. 61 และ บริษัท Unipec ส่งออกน้ำมันดีเซล จากสิงคโปร์มายังอังกฤษ ปริมาณ 600,000 บาร์เรล ส่งมอบ 6 ก.ค. 61 ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันดีเซลสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และเกษตรกรรมในออสเตรียแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม Korea National Oil Corp. (KNOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเกาหลีใต้รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.9% มาอยู่ที่ 16.2 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.15ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 86.0-91.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล