กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--แบงค์คอก ไรเตอร์ แอนด์ พาร์ท เนอร์ส
เพิ่มทางเลือกเที่ยวเมืองพัทยาแบบโลว์คาร์บอน
อพท. ผนึกการรถไฟฯ พัฒนาเส้นทาง "ขึ้นรถไฟไปปั่นจักรยาน"
อพท. ผนึกการรถไฟฯ ปลุกกระแสท่องเที่ยวพัทยาแนวใหม่แบบคาร์บอนต่ำ จัดกิจกรรม "ขึ้นรถไฟไปปั่นเที่ยว...ใกล้นิดเดียวพัทยา" ชวนนักปั่นจักรยานร่วมสัมผัสประสบการณ์ปั่นจักรยานและกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง พร้อมชูจุดขาย Smart Pattaya แอพพลิเคชั่นช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ตอบรับกระแสไทยแลนด์ 4.0
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย สถาบันการเดินและการจักรยานไทย จัดกิจกรรม "ขึ้นรถไฟไปปั่นเที่ยว...ใกล้นิดเดียวพัทยา" ระหว่างวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน 2561 ถึง วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม 2561 เพื่อทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวโดยใช้จักรยานเป็นพาหนะรวม 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางท่องเที่ยวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยใช้สถานีรถไฟวัดญาณสังวรารามเป็นจุดปล่อยตัวคณะผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อปั่นจักรยานท่องเที่ยวในเส้นทางท่องเที่ยวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีจุดแวะชม เช่น โครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ อเนกกุศลศาลา(วิหารเซียน) วัดญาณสังวราราม และเดินทางเชื่อมโยงสู่ตลาดจีนโบราณชากแง้ว พื้นที่เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ 2. เส้นทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานชุมชนต้นแบบนาเกลือ สะพานปลานาเกลือ กลุ่มประมงเรือเล็กนาเกลือ และ 3. เส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายหาดพัทยาเหนือ กลาง ใต้ และแหลมบาลีฮาย
วัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ (1) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ ชูเส้นทางท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่รอบเมืองพัทยาให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว (2) เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว และ (3) เพื่อนำเสนอ Mobile Application Smart Pattaya Plus ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองใช้ระหว่างเส้นทางปั่นจักรยาน ซึ่ง อพท. ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นดังกล่าวไว้แล้ว ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงกว่า 300 แหล่ง เป็นการยกระดับการท่องเที่ยวสู่มาตรฐานสากลตามนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0
"ระบบ Mobile Application Smart Pattaya Plus เป็นระบบ Mobile Application Platform มีภาษารองรับ 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษารัสเซีย มีระบบเสียงนำทาง Voice Guidance สำหรับผู้ที่ปั่นจักรยานเพื่อบอกรายละเอียดทุกการเดินทาง เป็นแอพพลิเคชั่นที่ อพท. พัฒนาขึ้นมาสำหรับให้บริการข้อมูลเส้นทางการท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว"
เส้นทางปั่นจักรยาน ที่ อพท. นำเสนอในกิจกรรมครั้งนี้ เกิดจากการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่ อพท. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนากิจกรรมทางการท่องเที่ยวขึ้นมา ความพิเศษของการท่องเที่ยวในเส้นทางเหล่านี้ จะทำให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น เกิดการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน เกิด การศึกษาเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน และมีการบริโภคอาหารจากชุมชนท้องถิ่น
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า เส้นทาง "ขึ้นรถไฟไปปั่นจักรยาน" ภายใต้กิจกรรม "ขึ้นรถไฟไปปั่นเที่ยว...ใกล้นิดเดียวพัทยา" อพท. ได้คำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทางโดยรถไฟและการใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว เปรียบเทียบกับการเดินทางโดยรถยนต์ พบว่ารถยนต์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 104 กรัมต่อหนึ่งคนต่อหนึ่งกิโลเมตร หรือจะมีจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 39.52 กิโลกรัมต่อคน ขณะที่การเดินทางโดยรถไฟจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพียงแค่ 14 กรัมต่อหนึ่งคนต่อหนึ่งกิโลเมตรเท่านั้น และการใช้จักรยานจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนเท่ากับศูนย์ ดังนั้น หากนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางในรูปแบบคาร์บอนต่ำ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับ 4.2 กิโลกรัมต่อคนเท่านั้น เท่ากับสามารลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 10 เท่า เป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม
โดยจะเริ่มการเดินทางโดยรถไฟแบบปรับอากาศ ชั้น 2 เส้นทางกรุงเทพฯ - บ้านพลูตาหลวง (สายตะวันออก) ใช้ระยะเวลาในการเดินทางแค่เพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น โดยเส้นทางดังกล่าว ผู้โดยสารสามารถลงจุดจอดระหว่างทางได้อย่างสะดวกสบาย ได้แก่ ชลบุรี ศรีราชา พัทยา เกาะล้าน สัตหีบ ให้บริการทุกวันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 1 เที่ยว (ไป-กลับ) คือ ออกจากสถานีหัวลำโพง กรุงเทพฯ เวลา 06.45 น. และจะไปถึงสถานีปลายทางบ้านพลูตาหลวง เวลา 09.50 น. ส่วนขากลับ ออกจากสถานีบ้านพลูตาหลวง เวลา 15.50 น. และจะมาถึงกรุงเทพฯ เวลาประมาณ 18.55 น.
สำหรับในส่วนของเส้นทางจักรยานนั้นจะมุ่งเน้นในการการออกแบบกิจกรรมที่มีส่วนร่วมกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น และการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน เช่น การท่องเที่ยวในเส้นทางวิถีชีวิตชุมชน การศึกษาเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน การบริโภคอาหารจากชุมชนท้องถิ่น ประกอบด้วย 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ 1. เส้นทางท่องเที่ยวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยใช้สถานีรถไฟวัดญาณสังวรารามเป็นจุดปล่อยตัวคณะผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อปั่นจักรยานท่องเที่ยวในเส้นทางโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขาชีจรรย์ ซึ่งมีจุดแวะท่องเที่ยว เช่น ป่าสิริเจริญวรรษโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ อเนกกุศลศาลา(วิหารเซียน) วัดญาณสังวราราม และเดินทางเชื่อมโยงไปสู่ตลาดจีนโบราณชากแง้ว พื้นที่เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ 2. เส้นทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานชุมชนต้นแบบ นาเกลือ สะพานปลานาเกลือ กลุ่มประมงเรือเล็กนาเกลือ และ 3. เส้นทางเลียบชายหาดพัทยาเหนือ กลาง ใต้ และแหลมบาลีฮาย
ระบบ Mobile Application Smart Pattaya Plus ระบบ Mobile Application Platform อพท. พัฒนาขึ้นมาเพื่อบริการข้อมูลเส้นทางการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงเป็นบริการท่องเที่ยวพัทยาทางเลือกใหม่ สามารถใช้งานได้ทั้งแบบ Online และ Offline รองรับการใช้งานถึง 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษารัสเซีย มีระบบเสียงนำทาง Voice Guidance สำหรับผู้ที่ปั่นจักรยานเพื่อบอกรายละเอียดทุกการเดินทาง