TFRS 9 ควรจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด?

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 3, 2018 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--สภาวิชาชีพบัญชี คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชี ยืนยันว่าการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) จะส่งผลให้การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเหมาะสมกับความเสี่ยงของลูกหนี้ ทำให้งบการเงินรายงานฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่สะท้อนนโยบายด้านสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง เราเชื่อมั่นว่าในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีนโยบายด้านสินเชื่อที่เหมาะสม รวมทั้งมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของลูกหนี้อยู่แล้ว ดังนั้นการบังคับใช้ TFRS 9 จึงไม่ควรส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายด้านสินเชื่อและไม่ควรส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากลูกหนี้ ไม่ว่าลูกหนี้นั้นจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจ SMEs โดยขณะนี้ TFRS 9 อยู่ระหว่างการพิจารณาจากคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ว่าจะบังคับใช้กับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Publicly Accountable Entities: PAEs) ในปี 2562 ตาม Roadmap เดิม หรือเลื่อนการบังคับใช้ไปในปี 2563 หรือ ปี 2565 ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการ กกบ. ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 นี้ ในวันนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สุภัทรกุล ประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชี ให้ข้อมูลว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินจากการบังคับใช้ TFRS 9 มี 3 ส่วน ได้แก่ การรับรู้รายการ และการวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน (ซึ่งจะมีการจัดประเภทสินทรัพย์ทางการเงินแตกต่างไปจากเดิม) การด้อยค่าสินทรัพย์ทางการเงิน และการบัญชีป้องกันความเสี่ยง โดยผลกระทบส่วนใหญ่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ คือผลกระทบจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งสภาวิชาชีพบัญชีได้มีแผนลดผลกระทบจากในใช้ TFRS 9 เป็นครั้งแรกโดยให้รับรู้ผลกระทบจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน ณ วันที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกในกำไรสะสมต้นปีหรือสามารถทยอยรับรู้ผลกระทบดังกล่าวในกำไรหรือขาดทุนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี หลายฝ่ายเข้าใจว่าเมื่อมีการนำ TFRS 9 มาใช้จะมีผลให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้นและจะมีดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีนโยบายด้านสินเชื่อที่ไม่เหมาะสมและมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกหนี้ ซึ่งถือเป็นสมมติฐานที่ไม่ถูกต้องนักและดูเหมือนจะเป็นการดูแคลนธนาคารพาณิชย์มากเกินไป TFRS 9 ก็เหมือนกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่นๆ ที่มีเป้าหมายสำคัญในการทำให้งบการเงินสะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจ หากธนาคารหนึ่งเน้นการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ธนาคารก็จะมีรายได้ดอกเบี้ยสูง TFRS 9 ก็กำหนดให้ธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงตามความเสี่ยงของลูกหนี้ หากอีกธนาคารหนึ่งเน้นการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ธนาคารก็จะมีรายได้ดอกเบี้ยต่ำ TFRS 9 ก็กำหนดให้ธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่ำด้วยเช่นกัน ดังนั้น กำไรของแต่ละธนาคารก็จะสะท้อนนโยบายด้านสินเชื่ออย่างเหมาะสม การใช้ TFRS 9 จึงช่วยให้ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน รวมทั้งประชาชนที่ฝากเงินกับธนาคารได้ข้อมูลทางการเงินที่มีคุณภาพมากขึ้น และสะท้อนนโยบายด้านสินเชื่อและการบริหารงานที่แท้จริงของธนาคาร อีกทั้งผู้บริหารธนาคารก็มีข้อมูลที่ใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากการใช้ TFRS 9 ทำให้ธนาคารปรับเปลี่ยนนโยบายด้านสินเชื่อเพื่อไม่ให้ธนาคารมีความเสี่ยงมากเกินไป ส่งผลให้ธนาคารจำกัดการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ซึ่งหากเรื่องนี้เป็นจริง ภาครัฐต้องมีมาตรการเพื่อเยียวยาผลกระทบดังกล่าว โดยมาตรการหนึ่งที่สามารถทำได้คือการใช้กลไกผ่านธนาคารของรัฐต่างๆ ที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ TFRS 9 การเลื่อนการบังคับใช้ TFRS 9 ไม่ว่าจะเลื่อนออกไปเป็นปี 2563 หรือ 2565 ไม่ควรเป็นทางเลือกของมาตรการในการเยียวยาผลกระทบดังกล่าว เพราะการเลื่อนการบังคับใช้จะส่งผลต่อเสีย ต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและตลาดทุน รวมทั้งผลกระทบต่อประชาชนผู้ฝากเงินกับธนาคารที่ต้องการข้อมูลทางการเงินที่สะท้อนผลการดำเนินเงินและความมั่นคงทางการเงินของธนาคารด้วย TFRS 9 จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่? คณะกรรมการ กกบ. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษามาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน – กลุ่มเครื่องมือทางการเงินไปปฏิบัติเพื่อศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านและข้อเสนอแนะ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ กกบ. โดยคณะอนุกรรมการดังกล่าวศึกษาและประเมินข้อดีและข้อเสียของวันบังคับใช้ TFRS 9 ได้แก่ (1) วันที่ 1 มกราคม 2562 (2) วันที่ 1 มกราคม 2563 และ (3) วันที่ 1 มกราคม 2565 ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันใด ธุรกิจสามารถถือปฏิบัติก่อนวันที่มีผลบังคับใช้ได้ โดยคณะกรรมการ กกบ. จะมีการประชุมในวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สุภัทรกุล ให้ความเห็นว่า หากพิจารณาตามความสมเหตุสมผลของข้อดีและข้อเสียของวันบังคับใช้ TFRS 9 ในแต่ละทางเลือกแล้ว ทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดและมีความเหมาะสมมากที่สุดคือ วันที่ 1 มกราคม 2563 อย่างไรก็ตาม สภาวิชาชีพบัญชียังคงต้องการให้วันบังคับใช้ TFRS 9 ที่เป็นไปตาม Roadmap ของการบังคับใช้ TFRS ซึ่งเคยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กกบ. ไปก่อนหน้าแล้ว คือ วันที่ 1 มกราคม 2562 แต่หากจะเลื่อนออกไปอีก 1 ปี ถึงแม้ว่าอาจส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและตลาดทุนของไทยอยู่บ้าง แต่เพื่อให้สถาบันการเงิน ที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีเวลาเตรียมความพร้อมอีก 1 ปี ก็เป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ เพราะในปัจจุบันดูเหมือนว่ามีเพียงแค่ธนาคารพาณิชย์เท่านั้นที่พูดว่ามีความพร้อมสำหรับการใช้ TFRS 9 โดยเริ่มดำเนินการตาม TFRS 9 คู่ขนานกับมาตรฐานปัจจุบันมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่การเลื่อนยาวออกไปถึงปี 2565 จะส่งผลเสียอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและตลาดทุนของไทยในระยะยาว ทั้งนี้ จะบังคับใช้ TFRS 9 เมื่อใดก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ กกบ. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิภาดา ตันติประภา กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีได้ศึกษาผลกระทบของการนำ TFRS 9 มาใช้ และมีการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากธนาคารพาณิชย์ และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาตั้งแต่ปี 2556 และกำหนดเพิ่มทางเลือกในการปฏิบัติในช่วงการเปลี่ยนแปลงในหลายประเด็นเพื่อลดผลกระทบจากการบังคับใช้ TFRS 9 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันสกฤต วิจิตรเลขการ กรรมการคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีได้แต่งตั้งคณะทำงานสนับสนุนการเตรียมความพร้อมและ แนวทางแก้ไขปัญหาจากการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินกลุ่มเครื่องมือทางการเงิน โดยมีแผนในการจัดทำคู่มืออธิบายและตัวอย่างประกอบความเข้าใจ และการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้นักบัญชีของ PAEs เข้าใจ TFRS 9 อย่างลึกซึ้งและสามารถนำไปปฏิบัติได้ TFRS 9 กระทบต่อบริษัทจดทะเบียนที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือไม่? รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สุภัทรกุล เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนทั่วไปน่าจะได้รับผลกระทบจาก TFRS 9 ค่อนข้างน้อย เนื่องจากหลักการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินใน TFRS 9 มีวิธีการคำนวณอย่างง่าย (Simplified Approach) ซึ่งสามารถนำมาใช้กับการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าสำหรับลูกหนี้การค้าและลูกหนี้ตามสัญญาเช่า โดยวิธีการคำนวณอย่างง่ายนี้ มีความคล้ายคลึงกับวิธีการประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญโดยการจัดกลุ่มลูกหนี้จำแนกตามอายุของหนี้ที่ค้างชำระที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่ต้องมองฐานะการเงินและความเสี่ยงของลูกหนี้ในอนาคต (Looking Forward) ทั้งนี้ งบการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์มักมีสัดส่วนของลูกหนี้ในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์รวม ทำให้ผลกระทบที่มีต่อบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวไม่มากนัก โดยสรุป TFRS 9 มิได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีนโยบายด้านสินเชื่ออย่างไร และมิได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายด้านสินเชื่อแต่อย่างใด TFRS 9 เป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้งบการเงินของธนาคารพาณิชย์สะท้อนนโยบายด้านสินเชื่อของธนาคารได้อย่างแท้จริงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาว่าจะนำ TFRS 9 มาถือปฏิบัติเมื่อใดนั้น ควรมีการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ นอกจากธนาคารพาณิชย์ที่ต้องนำ TFRS 9 มาใช้ และ SMEs ที่อาจได้รับผลกระทบ หากธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายด้านสินเชื่อแล้ว ยังต้องคำนึงถึงนักลงทุน รวมทั้งตลาดทุนที่จะได้รับผลกระทบจากความน่าเชื่อถือของข้อมูลทางการเงินที่ลดลง และที่สำคัญยิ่งคือประชาชนผู้ฝากเงินที่อาจได้รับความเสียหาย หากธนาคารพาณิชย์มีนโยบายด้านสินเชื่อที่เน้นลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อรับรู้รายได้ดอกเบี้ยสูง แต่รับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของลูกหนี้เหล่านี้น้อยเกินไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ