กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่น เวิลด์วายด์
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ผนึกกำลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงาน คณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมสร้างฝันนักเรียนอาชีวะ ปูทางสู่ผู้ประกอบการมืออาชีพ โดยสานต่อโครงการอบรมแผนธุรกิจ “อาชีวะสร้างสรรค์ แปรฝันสู่ธุรกิจ” ปี 2 (RRR Awards) พร้อมก้าวรุกมาอย่างต่อเนื่อง และได้คัดเลือกนักเรียนปวช. ชั้นปีที่ 3 และ ปวส. ชั้นปีที่ 2 กว่า 500 คน พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษา กว่า 100 คน จากทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อมุ่งสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบทั้งทฤษฎีและปฏิบัติให้นักเรียนอาชีวะ พร้อมเสริมสร้างศักยภาพของอาจารย์ให้มีองค์ความรู้ในการจัดการเรียน การสอนด้านธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการอย่างประสิทธิภาพ
สำหรับโครงการ “อาชีวะสร้างสรรค์ แปรฝันสู่ธุรกิจ” ปี 2 มีนักเรียนอาชีวะจากทั่วประเทศให้ความสนใจส่งผลงานเข้ามาร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก โดยการคัดเลือกจะแบ่งออกเป็น 3 รอบ ซึ่งโดยครั้งแรกคณะกรรมการโครงการฯ ได้คัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบแรก จำนวน 100 ทีม แบ่งเป็นทีมภาคกลาง จำนวน 15 ทีม ภาคตะวันออกและกทม. จำนวน 12 ทีม ภาคเหนือ จำนวน 22 ทีม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 29 ทีม และภาคใต้ จำนวน 22 ทีม โดยแต่ละทีมจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาทีมละ 1 คน
จาก 100 ทีม เหลือ 20 ทีม และเหลือ 10 ทีมได้ร่วมเข้ารอบแข่งขันชิงชนะเลิศในวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์ เอสพลานาด ซินีเพล็กซ์ อาทิ
1. ทีม Btc_mix จากผลงาน โต๊ะ 4 in 1 วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์
2. ทีม Btex_original จากผลงาน เครื่องสับ Bitec (สับอาหารโค) วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์
3. Eco Visual จากผลงาน เครื่องฉายภาพ 3 มิติ วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร
4. Five Angel จากผลงาน น้ำปรุงรสผัดไทย วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี
5. Health Life จากผลงาน น้ำนมแพะ วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง
6. R-Chewa Health Girl จากผลงาน เต้าฮวยนมแพะฟรุตสลัด วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี
7. คนใจดี จากผลงาน แกะสลักลายกระจก วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่
8. คนพันธ์ไอ จากผลงาน รับออกแบบ website วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี
9. ดอกไม้มหัศจรรย์ จากผลงาน ดอกไม้ประดิษฐ์จากมัน วิทยาลัยอาชีวศึกษาบึงกาฬ หนองคาย
10. บางพัฒน์โฮมสเตย์ จากผลงาน บริการนำเที่ยวแบบโฮมสเตย์ วิทยาลัยเทคนิคพังงา
ทั้ง 10 ทีม ต่างก็ขับเคี่ยว นำเสนอผลงานและแผนต่างๆ ต่อหน้าคณะกรรมการฯ แล้วในที่สุดก็ได้ 3 ทีมชนะเลิศในประเภทต่างๆ โดยจะได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัลทีมละ 30,000 บาท และไปทัศนศึกษาดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ มีดังนี้
- รางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น ได้แก่ ทีมบางพัฒน์โฮมสเตย์ วิทยาลัยเทคนิคพังงา จากผลงาน บริการนำเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ตั้งอยู่ ณ ชุมชนบ้านบางพัฒน์ หมู่ 8 ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา
ในทีมมีทั้งหมด 5 คน และอาจารย์ที่ปรึกษาอีก 1 ท่านคือ ปาฏลี สุวรรณกิจ, อารีย์ หัสนี, กนกกิจ ทินใน, มลฤดิ นิเกตุ และ สายสุนีย์ ขวัญเมือง ผู้จัดการ ธุรกิจบางพัฒน์โฮมสเตย์ กล่าวด้วยความปลื้มปีติว่า- -
“ ดีใจมากค่ะที่ได้รับรางวัล ที่ดำเนินธุรกิจนี้ขึ้นมา คือเมื่อ 3 ปีที่แล้วจากเหตุการณ์สึนามิ ชุมชนบางพัฒน์ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างมาก ครั้งนั้นมีแต่รอยคราบน้ำตา แต่มาวันนี้เปี่ยมได้ด้วยรอยยิ้ม เพราะเราได้สอนให้ชาวบ้านได้ดูแลรักษาป่าชายเลน และรวมถึงการดูแลอนุรักษ์สัตวน้ำด้วย ซึ่งที่นี่เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
...ทุกคนที่จะมาท่องเที่ยวกับธุรกิจของเรา จะต้องเป็นนักอนุรักษ์ด้วย เพราะเราจะให้ปลูกป่าชายเลน และเรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นนำเที่ยวอ่าวพังงา เพื่อชมธรรมชาติอันสวยงามขงเขาตะปู เขาพิงกัน ถ้ำลอด เกาะปันหยีที่มีชื่อเสียงระดับโลก แล้วคืนสภาพ ปูไข่สู่ทะเล เพื่อให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ กลับคืนสู่ท้องทะเลต่อไป
...เราจะทำธุรกิจนี้ไปพร้อมๆ กับรอยยิ้มของชาวบ้านค่ะ”
- รางวัลแผนธุรกิจดีเด่น ได้แก่ ทีม Healthy Life วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง จากผลงาน น้ำนมแพะ โดยในทีมมีดังนี้ กฤษฎา เครือสาร, คมกฤษ วะละ, จุรีย์พร แจ้คำ, หทัยรัตน์ พบบุญ และ กรรณิการ์ เครือเทพ ผู้จัดการ กล่าวว่า- -
“ อยากให้ทุกคนห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ เลยตั้งคอนเซ็ปต์ว่า ‘ Healthy Life รถไฟ...สายสุขภาพ’ เพราะนมแพะเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่น่าสนใจ และยังเป็นโครงการในพระราชดำริที่มีส่งเสริมให้มีการเลี้ยงแพะ เพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร และที่สำคัญน้ำนมแพะมีคุณประโยชน์มากมาย เป็นแห่งสารอาหารที่ดีมีโภชนาการครบ 5 หมู่
…สินค้าของเรามี นมแพะสด (ร้อน) 100 % และเครื่องดื่มนมแพะรสชาดต่างๆ อีก เช่น นมแพะเย็น รสช็อกโกแลต สตรอว์เบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ กาแฟ แคนตาลูป และอื่นๆ อีกด้วยค่ะ
...การจำหน่าย เราใช้ช่องทางตรง ถึงผู้บริโภคเลย โดยเลือกใช้บริการแบบรถเข็น ซึ่งมีขายที่ตลาดอัศวิน ช็อปปิ้งพอยท์ บริเวณลานทองพลาซ่า จังหวัดลำปาง ขายตั้งแต่เวลา 11.00 — 20.00 น.ค่ะ”
- รางวัลแนวคิดธุรกิจดีเด่น ได้แก่ ทีม Btec_Original วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ จากผลงาน เครื่องสับอาหารโค ผู้ร่วมทีมมีดังนี้ กัญญ์วรา แก้วไธสง, วาสนี พ่อค้า, นารีรัตน์ สุระรัมย์, อนุรักษ์ พิมพระนาง และ สุวัฒน์ ฉาบพิมาย ผู้จัดการ บริษัท Btec Original จำกัด กล่าวด้วยความดีใจว่า- -
“ แนวความคิด มาจากว่าได้เล็งเห็นอาชีพของคนไทยเป็นชาวเกษตรกรรม มีการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช แล้วเศษพืชที่ได้เก็บเกี่ยวแล้ว จะทิ้งไปก็เปล่าประโยชน์ สามารถที่จะมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยการแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ จึงได้ผลิตเครื่องจักร Btec ใช้สับอาหารให้สัตว์ และทำเป็นปุ๋ยหมักได้ โดยเครื่องจักรนี้ผลิตสามารถผลิตได้ 500 กิโลกรัมต่อชั่วโมง
...ธุรกิจเครื่องสับอาหารโคนี้ ถือว่าเป็นการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมต่อยอดให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ และทั้งยังสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรของไทยอีกด้วยครับ”
ผู้ใหญ่ใจดีที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือสานต่อโครงการนี้มาด้วยดีตลอดมา จนบรรลุเป้าหมายและสำเร็จในวันนี้ ได้กล่าวปิดท้ายให้กับคนพันธุ์ RRR
ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า- -
“ คนพันธุ์อาร์ (RRR) วันนี้ถือว่าสุดยอดแล้ว...อนาคตของชาติอยู่ในมือพันธุ์ RRR ทริปเปิ้ลอาร์ ที่จะต้องดำเนินอาชีพธุรกิจให้เกิดความอุดมสมบูรณ์สู่ท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตทำอาชีพของตนเอง สู่ท้องถิ่น และสู่ประเทศชาติต่อไป”
ภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการสำนักงาน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าว
“ ขอให้คนพันธุ์อาร์ทุกคนจงมุ่งมั่นก้าวต่อไป สสว.ยังเป็นองค์กรที่จะสนับสนุนอยู่เบื้องหลังต่อไป”
ศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวชื่นชมว่า- -
“โครงการนี้ถือเป็นความเข้มแข็งในเรื่องอาชีพ มีแผนธุรกิจที่ดี เป็นการพลิกโฉมการเรียนการสอนสายอาชีวะ ทำให้มีพื้นฐานทำแผนธุรกิจได้ และคิดว่า 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบมาในวันนี้ ถือว่าชนะแล้ว แต่ 3 ทีมนี้ถือเป็นต้นแบบ หรือพรีเซ็นเตอร์โครงการอาชีวะสร้างสรรค์ แปรผันสู่ธุรกิจ ณ วันนี้ถือว่า อาชีวะ มีแผนธุรกิจที่ดีได้ไม่แพ้ใคร”
รายละเอียดเพิ่มเติม :
ลัดดาวัลย์ กรีนวู๊ด
บริษัท โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่น เวิลด์วายด์ จำกัด
โทร : 02 205 6614
อีเมล : laddawan.greenwood@ogilvy.com
หรือ เบญจมา บินซูกอร์ 081 733 1856