กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--หอการค้าไทย
ประเด็นเศรษฐกิจต่างประเทศ ที่สำคัญยังคงต้องติดตามการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน สหภาพยุโรป เม็กซิโก แคนาดา อินเดีย ตุรกี เป็นต้น ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดเมื่อใด อย่างไรก็ตาม กกร. ประเมินว่า ผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และนานาประเทศ จะส่งผลกระทบที่จำกัดต่อการส่งออกของไทยในปี 2561 ขณะที่ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความต่อเนื่อง จะยังคงเป็นแรงหนุนการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ กกร.จึงปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกในปี 2561 เป็น 7.0-10.0% (จากเดิม 5.0-8.0%)
จากมุมมองที่บวกขึ้นของการส่งออก การท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจไทยที่เริ่มได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการเติบโตของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวเป็นบวกซึ่งน่าจะช่วยหนุนกำลังซื้อฐานรากให้ดีขึ้น และเครื่องชี้การลงทุนที่ทยอยฟื้นตัว ทำให้โดยรวมแล้ว กกร.จึงปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 เป็น 4.3-4.8% (จากเดิม 4.0-4.5%) และปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขึ้นเป็น 0.9-1.5% (จากเดิม 0.7-1.2%) เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ
ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 ของ กกร.
ปี 2560 ปี 2561 ปี 2561
ณ 3 เม.ย. 2561 ณ 3 ก.ค. 2561
GDP 3.9% 4.0-4.5% 4.3-4.8%
ส่งออก 9.9% 5.0-8.0% 7.0-10.0%
เงินเฟ้อทั่วไป 0.7% 0.7-1.2% 0.9-1.5%
สำหรับประเด็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการอ่อนค่าของเงินบาทที่เกิดขึ้นหลังการประชุม FOMC ในเดือนมิถุนายนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระบุว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้นั้น กกร.มองว่า ตลาดการเงินได้รับรู้แนวโน้มดอกเบี้ยดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว ดังนั้น คาดว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุนน่าที่จะทุเลาลง และเงินบาทน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย
เนื่องจากมาตรฐานการบัญชี IFRS9 อาจมีผลกระทบต่อต้นทุนและการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อของผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม SME ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดทำการประเมินผลกระทบในภาพรวมของประเทศ ดังนั้น กกร. จึงได้ว่าจ้าง ม.หอการค้าไทยทำการศึกษาวิจัยประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งนำเสนอมาตรการเยียวยา (ถ้ามี) โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาวิจัยประมาณ 4-6 เดือน และจะนำเสนอผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) และหน่วยงานที่ดูแลเศรษฐกิจของประเทศเพื่อใช้ในการพิจารณาวันประกาศบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวต่อไป