กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
กรมศุลกากรพัฒนาระบบการคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ ให้กระจายไปสู่ภูมิภาค ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ ธนาคารพาณิชย์ 6 ธนาคาร สำหรับการเข้าร่วมโครงการการค้ำประกันค่าภาษีอากร ด้วยระบบ On — Line โดยวิธีวางประกันลอย(Revolving Guarantee System : RGS) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาคที่ดำเนินธุรกิจผลิตส่งออก ให้สามารถขอคืนค่าภาษีอากรในส่วนภูมิภาคได้ โดยไม่ต้องติดต่อที่ส่วนกลาง
ในวันนี้ (วันอังคาร ที่ 11 ธันวาคม 2550) เวลา 10.00 น. นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมศุลกากร กับ ธนาคารพาณิชย์ 6 ธนาคาร ได้แก่ นายสุทธิพงศ์ อิทธิพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน) นายณัฐนันท์ นาคประสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายการค้าต่างประเทศ ธนาคารคาลิยง นายชัย คิน วี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำประเทศไทย ธนาคารบี เอ็น พี พารีบาส์ สาขากรุงเทพฯ ม.ล.ณัฏชัญญา ทวีวงศ์ Director ธนาคารดอยซ์แบงก์ เอ จี สาขากรุงเทพฯ Mr.C.Rangarajan Country Head ธนาคารอินเดียน โอเวอร์ซีส์ และนางดวงพร สุจริตานุวัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด(มหาชน) ณ ห้องสมุด อาคาร 1 กรมศุลกากร คลองเตย
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์การพัฒนามาตรการทางศุลกากรเพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ กรมศุลกากรได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร โดยกระจายการคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ ไปยังส่วนภูมิภาค ในระยะเริ่มต้น กรมศุลกากร และธนาคารกรุงไทย จำกัด ( มหาชน ) ได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบการค้ำประกันค่าภาษีอากร ที่เรียกว่า การค้ำประกันลอยRevolving Guarantee System หรือที่เรียกชื่อย่อว่า RGS เพื่อใช้ค้ำประกันค่าภาษีอากรแทนการชำระอากรขาเข้าที่ต้องเสีย สำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร และได้ใช้ในการผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุเป็นสินค้าส่งออก ซึ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร ( ฉบับที่ 9 ) พุทธศักราช 2482 ต่อมา กรมศุลกากรได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ไทย และต่างประเทศ อีก 10 ธนาคาร เข้าร่วมโครงการ และให้ความสนับสนุนในการพัฒนาเป็นระบบค้ำประกันแบบ On — Line โดยการบริจาคเงิน ธนาคารละ 1 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ และโปรแกรมการทำงานสำหรับระบบ RGS นี้ จนสามารถเปิดบริการให้กับผู้ประกอบการได้ตั้งแต่เดือน กันยายน 2545 เป็นต้นมา
ระบบการคืนอากรโดยวิธีวางประกันลอย คือการให้ผู้นำเข้าวัตถุดิบใช้หนังสือธนาคารวางประกันค่าภาษีรวมครั้งเดียวในวงเงินที่ผู้ประกอบการเห็นสมควร ซึ่งครอบคลุมการนำเข้าวัตถุดิบได้หลายครั้ง กรมศุลกากรและธนาคารจะมีระบบ On-Line เชื่อมโยงกัน โดยธนาคารจะลดยอดเงินค้ำประกันตามจำนวนค่าภาษีอากรวัตถุดิบที่นำเข้า และเพิ่มยอดวงเงินค้ำประกัน เมื่อได้รับการคืนอากรจากกรมศุลกากร ทั้งนี้สามารถคืนอากรได้ทุกครั้งที่ส่งออก ไม่ต้องรอให้ส่งออกจนครบจำนวนของวัตถุดิบที่นำเข้ามาในแต่ละครั้งและเป็นระบบการคืนให้ก่อนตามจำนวนที่ขอคืนและทำการตรวจสอบภายหลัง
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการใช้ระบบค้ำประกันลอย 416 ราย
วงเงินค้ำประกันที่ธนาคารอนุมัติทั้งหมด 5,136.27 ล้านบาท
ในปีงบประมาณ 2550 มียอดการคืนค้ำประกันตามมาตรา 19 ทวิ โดยวิธีค้ำประกันลอย จำนวน 2,069. 31 ล้านบาท หรือ ประมาณ 172 . 4 ล้านบาท ต่อเดือน
การค้ำประกันค่าภาษีอากรตามมาตรา 19 ทวิ โดยวิธีวางประกันลอย เป็นระบบการค้ำประกัน ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามมาตรา 19 ทวิ ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่าย และสอดคล้องกับนโยบายของกรมศุลกากรในการใช้ระบบ Paperless เป็นการลดการใช้หนังสือธนาคารค้ำประกันในรูปแบบเดิม การที่กรมศุลกากรนำระบบดังกล่าวมาใช้ทำให้การคืนอากรสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตส่งออกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้า ก่อให้เกิดสภาพคล่องและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก