กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--ปตท.
สนับสนุนการใช้เมล็ดกาแฟภายในประเทศและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมพัฒนาคุณภาพกาแฟเพื่อผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานและร่วมลงนามในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในโครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนาม
มูลนิธิโครงการหลวงดำเนินการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กาแฟอราบิก้า จนได้เมล็ดกาแฟพันธุ์ดี เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแต่ละแห่งที่ตั้งอยู่บนที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นพืชทางเลือกหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่เกษตรกรชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่นตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งโครงการหลวง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จำนวน 29 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 88หมู่บ้าน 8,820 ไร่ โดยมีจำนวนประชากรที่ได้รับประโยชน์ 1,598 ครัวเรือน มีผลิตผลกาแฟจำหน่ายออกสู่ตลาดกว่า 500 ตันต่อปี และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรมากกว่า 75 ล้านบาท โดยกระบวนการผลิตกาแฟโครงการหลวง เน้นการผลิตที่ปลอดภัย และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีการปลูกแบบผสมผสานร่วมกับพืชท้องถิ่นภายใต้ร่มเงาของไม้ยืนต้นตามธรรมชาติ เพื่อรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม และเป็นแบบอย่างการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
นายเทวินทร์ เปิดเผยว่า ด้วยเจตนารมณ์ของ ปตท. ที่เล็งเห็นว่าธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน จะมีโอกาสในการช่วยสนับสนุน และส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกกาแฟในประเทศได้ จึงมีนโยบายที่จะสนับสนุนการใช้เมล็ดกาแฟภายในประเทศ โดยร่วมมือกับโครงการหลวงและเครือข่ายชุมชนต่างๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการปลูกกาแฟ เพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟดิบตามกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างองค์ความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาอย่างสมดุล ตามแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในมิติการพัฒนาทักษะอาชีพ การเสริมสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชน และการมีส่วนร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นโดยเฉพาะป่าต้นน้ำในภาคเหนือ ขณะเดียวกันคาเฟ่อเมซอนก็จะได้วัตถุดิบเป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพ อีกทั้งยังสร้างโอกาสให้ผู้บริโภคได้มีส่วนช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทยให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสัมผัสรสชาติกาแฟคุณภาพผ่านการซื้อกาแฟที่ร้านคาเฟ่อเมซอน อีกด้วย ถือเป็นแนวทางดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาร่วมกับชุมชนเพื่อให้ได้ประโยชน์และอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ปตท. ก่อตั้งคาเฟ่อเมซอนเมื่อปี 2545 โดยมีจุดประสงค์เริ่มแรกเพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. และได้ขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทั่วประเทศ ในปัจจุบันมีจำนวนร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ทั้งสิ้น 2,300 สาขา ทั้งในและต่างประเทศ และคาดว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า จะเพิ่มจำนวนสาขาขึ้นอีกประมาณ2,500 สาขา ซึ่ง ปตท. เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในโครงการนี้จะสามารถสร้างประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นแบบอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวทางที่ ปตท. ยึดถือเป็นเจตนารมณ์ในการดำเนินงานมาโดยตลอดอีกด้วย