ธนินท์ชี้แนวทางพัฒนาประเทศต้องใช้หลัก 2 สูง ยกระดับราคาสินค้าเกษตรและค่าแรงให้สมดุล

ข่าวทั่วไป Tuesday December 11, 2007 14:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--ซีพีเอฟ
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวในโอกาสเปิดงานครบรอบ 30 ปี หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ว่าแนวทางการพัฒนาประเทศไทยให้ยั่งยืน จำเป็นจะต้องให้การพัฒนาสินค้าเกษตร โดยการยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในอดีตที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีใครพูดถึง รายได้ขั้นต่ำของเกษตรกรไทย ขณะที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น รายได้ของเกษตรกรไทยก็ยังต่ำเช่นเดิม เพราะเกรงว่าถ้าสินค้าเกษตรราคาสูง จะทำให้ค่าครองชีพสูงสุด ทั้งที่จริงๆแล้ว การยกระดับราคาสินค้าเกษตร จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น
“ไม่มีประเทศใดในโลกที่กดราคาสินค้าเกษตรและไม่ปกป้องเกษตรกรของเขา เช่น ถ้าไทยจะส่งข้าวเข้าไปขายในราคาต่ำเพียง 20 บาท ขณะที่ราคาขายข้าวในประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 200.- บาท รัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่ยอมรับสินต้าข้าวของไทยเข้าไปขาย เพื่อปกป้องชาวนาญี่ปุ่น ส่วนสหรัฐอเมริกา มีอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งอยู่เล็กน้อย แต่ยังปกป้องเกษตรกร โดยจะทำทุกวิธีให้สินค้าเกษตรมีราคาแพงขึ้น เช่นกรณีที่ไทยส่งกุ้งเข้าไปขายในสหรัฐฯ ถูกกล่าวหาว่าเป็นการทำลายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของสหรัฐฯ และเก็บภาษี AD กุ้งจากไทยทันที”
นายธนินท์กล่าวต่อว่า เมื่อระดับราคาสินค้าเกษตรสูง ก็ต้องขึ้นเงืนเดือนข้าราชการและค่าจ้างแรงงานให้สูงขึ้นอย่างสมดุล เช่น ประเทศจีนและไต้หวัน ที่นอกจากจะไม่กดราคาสินค้าเกษตรแล้วยังขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ตามราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยเงินเดือนข้าราชการจีนระดับธรรมดาตั้งแต่เปิดประเทศ เพิ่มขึ้นมาถึง 100 เท่า ในปัจจุบัน ขณะที่ข้าราชการไทยขึ้นเพียง 8 เท่าจากช่วงระยะเวลาเดียวกัน และผลที่ตามมาจากการยกระดับราคาสินค้าเกษตรและขึ้นค่าแรง จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ มีความคล่องตัวและรัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มอีกหลายเท่าตัว สามารถนำไปขึ้นเงืนเดือนข้าราชการและพัฒนาประเทศ
เกษตรกรไทยลำบาก มีรายได้น้อย ความรู้น้อย แต่กลับรับความเสี่ยงสูงที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยควรจะนำความเสี่ยง ให้ไปอยู่กับผู้มีทุน มีความรู้ มีเทคโนโลยี และมีความสามารถทางการตลาด ก็จะเป็นผลดีให้แก่เกษตรกรและประเทศชาติ” นายธนินท์กล่าวทิ้งท้าย
สำนักสารนิเทศ CPF
โทร. 0-2625-7344-5

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ