กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--นานมีบุ๊คส์
กระทรวงศึกษาธิการ ผนึกกำลังร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน นำโดย บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา เพื่อโรงเรียนของน้องๆ ที่ห่างไกล" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด คณะทำงานโครงการมือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา และเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ได้แก่ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร, สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.), สมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย, สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย, สภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย, เครือข่ายตรังเจริญร้อยแก่นสาร, เว็บไซต์ Dek-D.com, บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย โดยมี นายพิธาน พื้นทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวคิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด นางสาวสายฝน อภิธนัง หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการมือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา และผู้บริหารของแต่ละเครือข่าย ร่วมแถลงข่าว ณ กระทรวงศึกษาธิการ
นายพิธาน พื้นทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า " ๑ ในพันธกิจของกระทรวงศึกษาธิการคือการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชากรวัยเรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าว่ายังมีโรงเรียนอีกหลายแห่งในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนทั้งครู สื่อและอุปกรณ์การเรียนที่ไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน หนังสือซึ่งเป็นสื่อและเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เด็กเข้าถึงความรู้และพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กๆ ได้ และสำหรับโครงการ "มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา เพื่อโรงเรียนของน้องๆ ที่ห่างไกล" นอกจากจะเป็นโครงการที่ช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นการทำบุญด้านการศึกษา โดยที่ไม่ต้องใช้เงินแม่แต่บาทเดียว เพราะเพียงแค่มีมือถือเก่าที่เสียแล้ว ไม่ใช่แล้ว ทุกสภาพ ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ มาบริจาค ทางโครงการฯจะนำไปมือถือเหล่านั้นไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีได้มาตรฐาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เมื่อได้รายได้จากการรีไซเคิลนี้แล้ว เราจะนำไปจัดหาหนังสือคุณภาพดีเหมาะสมสำหรับเด็ก โดยนานมีบุ๊คส์ร่วมสนับสนุนหนังสืออีก ๑ เท่าจากรายได้ทั้งหมด มอบให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนจำนวน ๕๐๐ โรงเรียน เราประกอบด้วย โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ๒๐๔ แห่ง และโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จำนวน ๒๙๖ แห่ง ตั้งเป้าหมายรวบรวมมือถือเก่าให้ได้จำนวน ๓ ล้านเครื่อง ซึ่งจะได้รายได้ประมาณ ๑๐ ล้านบาท ภายในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ นี้ นับว่าเป็นโครงการที่เราจะได้ประโยชน์ทั้งจากการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือน อีกทั้งยังได้บุญจากการช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้รับการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนอีกด้วย จึงขอความร่วมมือจากโรงเรียน หน่วยงานและประชาชนทุกภาคส่วนเข้าร่วมโครงการทั้งการบริจาค และเป็นจิตอาสารวบรวมมือถือเก่าจากคนในพื้นที่ ส่งมอบให้กับโครงการฯ และขอขอบคุณหน่วยงานภาคเอกชนทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้ ความร่วมมือจากทุกหน่วยงานจะเป็นกำลังสำคัญให้โครงการสำเร็จได้ตามเป้าหมาย"
สำหรับโครงการ "มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา เพื่อโรงเรียนของน้องๆ ที่ห่างไกล" มุ่งหวังให้เป็นโครงการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนที่กำลังเป็นปัญหาการจัดการในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกสะสมในประเทศไทยรอการกำจัดกว่า ๕-๖ แสนตัน ทำให้หลายหน่วยงานเริ่มตระหนักและริเริ่มโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษจึงได้ริเริ่มโครงการนำร่องให้มีการกำจัดและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี เพื่อลดมลพิษและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการขอรับบริจาคโทรศัพท์มือถือเก่าที่ไม่ใช้งานแล้วที่ตกค้างอยู่ทั่วประเทศมากกว่า ๒๐๐ ล้านเครื่อง ซึ่งโครงการดังกล่าวได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน
ซึ่งในครั้งนี้โครงการ "มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา เพื่อโรงเรียนของน้องๆ ที่ห่างไกล" ริเริ่มโดยบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ที่เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว ในฐานะภาคเอกชนที่ส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนมาตลอด ๒๖ ปี ยังเล็งเห็นถึงปัญหาของการเหลื่อมล้ำทางการกระจายความรู้สู่เด็กและเยาวชนที่อยู่ในโรงเรียนที่ห่างไกล ขาดหนังสือดีมีคุณภาพที่เหมาะสมไว้ใช้อ่านศึกษา ทำให้พัฒนาทางด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงมีความประสงค์ที่จะคืนกำไรสู่สังคม ด้วยการเข้าร่วมโครงการมือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา โดยนานมีบุ๊คส์ร่วมสนับสนุนหนังสือ ๑ เท่าจากมูลค่าของรายได้ทั้งหมดที่ได้จากการรีไซเคิลมือถือเก่า นำไปจัดหาหนังสือสำหรับเด็กที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยส่งมอบให้กับโรงเรียนจำนวน ๕๐๐ แห่ง โดยยังเชิญชวนเครือข่ายภาครัฐและเอกชนที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อผนึกกำลังความร่วมมือในการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ตามกรอบระยะที่กำหนด
ในการนี้ขอเชิญชวนประชาชนนำมือถือเก่าที่เสียแล้ว เลิกใช้งานแล้ว ทุกสภาพ ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ บริจาคได้ที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อบต. อบจ. ทต. ทม. สถจ. ศพด. ) โรงเรียน และ เคทีซี ทัช ทุกสาขา ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม – ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๑
อีกทั้งขอเชิญชวนโรงเรียนและหน่วยงานทุกแห่ง ร่วมเป็นหน่วยรับบริจาค ด้วยวิธีการง่ายๆ และไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. ประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักเรียน ครู ผู้ปกครอง หรือคนในชุมชน พื้นที่ใกล้เคียง นำมือถือเก่ามาบริจาค ภายในระยะเวลาที่กำหนด
2. รวบรวมมือถือเก่าใส่กล่องพัสดุทั่วไป หรือถุงของโครงการ (ติดต่อขอรับได้ที่ หมายเลข ๐๘-๓๐๗๒-๐๒๕๖, ๐๘-๓๐๐๓-๘๑๕๖, ๐๘-๓๐๙๐-๑๙๕๖ ขนาดบรรจุ ๒๕๐-๓๐๐ เครื่อง หรือน้ำหนัก ๒๕ กก.
3. เมื่อรวบรวมได้ตามเวลาที่กำหนด ให้ท่านนำส่งกลับมายังโครงการฯ
- กรณีหน่วยงานของท่านอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ติดต่อกลับมายังหมายเลข ๐๘-๓๐๗๒-๐๒๕๖, ๐๘-๓๐๐๓-๘๑๕๖, ๐๘-๓๐๙๐-๑๙๕๖ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปรับถุงกับท่าน หรือนำส่งด้วยตัวเองที่ไปรษณีย์ทุกสาขาฟรี
- กรณีหน่วยงานของท่านอยู่ต่างจังหวัด นำส่งด้วยตัวเองที่ไปรษณีย์ทุกสาขาฟรี
- จ่าหน้าซองถึง ศูนย์จัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อโครงการมือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา บริษัท บางกอกรีไซเคิลแอนรียูส จำกัด ๘๕/๑ หมู่ ๒ ตำบลมาบไผ่ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ๒๐๑๗๐
- รับบริจาค และนำส่งโครงการฯ ได้ตั้งแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม – ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๑
สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการฯ โทร. ๐๘-๓๐๗๒-๐๒๕๖, ๐๘-๓๐๐๓-๘๑๕๖, ๐๘-๓๐๙๐-๑๙๕๖ หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ https://www.facebook.com/recycleandreduce/