กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เผยยอดการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงาน (ร.ง.4) เดือนมกราคม - มิถุนายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,504 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 168,523.69 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดในครึ่งปีที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ นอกจากนี้ ในส่วนของการจดประกอบและขยายกิจการของกลุ่ม SMEs พบว่า กลุ่มที่ขยายกิจการมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม 13,523 ล้านบาท เป็น 14,361 ล้านบาท หรือประมาณ 6.2% และในส่วนของการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี มูลค่าการลงทุนเติบโตขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2,820 ล้านบาท เป็น 9,863.24 ล้านบาท หรือเกือบ 250%
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการและ การขยายกิจการ (ร.ง.4) ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา (มกราคม – มิถุนายน 2561) พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 2,504 โรงงาน แบ่งเป็นกลุ่มที่ขออนุญาตประกอบกิจการใหม่ 2,043 โรงงาน กลุ่มขยายกิจการ 461 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 168,523.69 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการขออนุญาตประกอบและขยายกิจการมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่าการลงทุน 30,592 ล้านบาท อุตสาหกรรมพลาสติก 13,067 ล้านบาท อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง 12,552 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 10,600 ล้านบาท และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 9,966 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า การขออนุญาตประกอบกิจการและการขยายกิจการใหม่มีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.52% มูลค่าการลงทุนลดลง 31.38% ซึ่งในปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกันมีจำนวนโรงงานที่ขอใบอนุญาตและขยายกิจการทั้งสิ้น 2,491 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 221,401 ล้านบาท
ในด้านการจดประกอบและขยายกิจการของกลุ่ม SMEs มีการจดประกอบและขยายกิจการใหม่ จำนวน 2,325 โรงงาน จากเดิม 2,287 โรงงาน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 1.66% มูลค่าการลงทุน 57,405 ล้านบาท จากเดิม 57,126 ล้านบาท เติบโต 0.49% แบ่งเป็น
1.การขออนุญาตประกอบกิจการใหม่ 1,949 โรงงาน เติบโตขึ้นจากเดิม 1,908 โรงงาน หรือเพิ่มขึ้น 2.15% มูลค่าการลงทุน 43,043 ล้านบาท จากเดิม 43,603 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.28%
2.การขยายกิจการมีจำนวน 376 โรงงาน จากเดิม 379 โรงงาน ลดลงเล็กน้อย 0.79% มูลค่าการลงทุน 14,361 ล้านบาท จากเดิมมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 13,523 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.2%
นอกจากนี้ จากการประกาศใช้ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในช่วงไม่ถึง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้การลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีความคึกคักอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น การขออนุญาตประกอบและขยายกิจการ มีจำนวนทั้งสิ้น 53 โรงงาน มูลค่าการลงทุนเติบโตขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2,820 เป็น 9,863.24 ล้านบาท หรือเกือบ 250% โดยในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีการจดประกอบและขยายกิจการจำนวน 10 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 3,111.29 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี จำนวน 24 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 1,363.35 ล้านบาท และจังหวัดระยอง จำนวน 19 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 5,388.60 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจดประกอบและขยายกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ และกลุ่มแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้
นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ 5 อันดับจังหวัดที่มีการขออนุญาตประกอบกิจการใหม่มากที่สุด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร 207 โรงงาน จังหวัดสมุทรปราการ 174 โรงงาน จังหวัดชลบุรี 116 โรงงาน จังหวัดปทุมธานี 95 โรงงาน และจังหวัดนครปฐม 83 โรงงาน ส่วนจังหวัดที่มีการขยายโรงงานมากที่สุดคือ จังหวัดสมุทรปราการ 43 โรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร 40 โรงงาน จังหวัดปทุมธานี 30 โรงงาน จังหวัดชลบุรี 27 โรงงาน และจังหวัดระยอง 23 โรงงาน นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า พื้นที่ที่มีมูลค่าการลงทุนจดประกอบและขยายกิจการมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ 13,720 ล้านบาท จังหวัดปราจีนบุรี 13,412 ล้านบาท จังหวัดนครปฐม 10,819 ล้านบาท จังหวัดระยอง 10,605 ล้านบาท และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 10,076 ล้านบาท
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4076 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th