กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--มหาวิทยาลัยรังสิต
ปฏิรูประบบมาตรฐานความปลอดภัยและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานเพื่อชีวิตและความปลอดภัยของทุกชีวิต เสริมความแข็งแกร่งของการท่องเที่ยวไทยและเศรษฐกิจไทย 11.30 น. 8 ก.ค. 2561 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า กรณีเรือล่มมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจำนวนมาก เด็ก 13 คนติดในถ้ำหลวงและอุบัติภัยต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยไม่ดีนัก การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการท่องเที่ยว กฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยก็ยังไม่ได้มาตรฐาน คนต่างชาติบางส่วนที่เข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวในไทยก็หลบเลี่ยงกฎหมายใช้นอมินีคนไทยในการดำเนินการในกิจการที่กฎหมายห้ามไม่ให้ทำ ทำให้การกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายไม่เต็มประสิทธิภาพ เหตุการณ์ดังกล่าวได้ซ้ำเติมภาพลักษณ์เกี่ยวกับปัญหาด้านความปลอดภัย ปัญหาด้านอาชญากรรมที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งมีทัศนคติด้านลบต่อความปลอดภัยของไทยอยู่แล้ว เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงติดอันดับ 2 ของโลก หากปล่อยให้ปัญหาต่างๆเกิดขึ้นโดยไม่มีการปฏิรูประบบมาตรฐานความปลอดภัย การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการท่องเที่ยว การบังคับใช้กฎหมายให้ได้มาตรฐานเพื่อชีวิตและความปลอดภัยของทุกชีวิต ระบบการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและฉับไว ระบบเยียวยาผู้เสียหายอย่างเหมาะสมแล้ว จะส่งผลกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในระยะยาวได้ นอกจากนี้ไทยยังมีความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมโดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำทางทะเล และระบบราง ระบบรางไทยสามารถเดินทางด้วยความเร็วราว 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น แตกต่างจากประเทศที่มีรถไฟความเร็วสูงทำให้ประหยัดเวลาและมีความปลอดภัย การขยายสนามบินหลายแห่งในไทยมีความล่าช้าไม่สามารถทันต่อการขยายตัวของนักท่องเที่ยว อย่างสนามบินสุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสารล่าสุดมากกว่า 54 ล้านรายต่อปี แต่สนามบินรองรับได้ประมาณ 45 ล้านรายต่อปี หรือเกินความจุกว่า 120%
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ภาคการท่องเที่ยวนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รายได้จากการท่องเที่ยวขึ้นมาอยู่ที่มากกว่า 12% ของ GDP อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นส่งผลดีต่อการจ้างงาน มีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง คาดการณ์ว่า หาก
รายได้ของการท่องเที่ยวลดลง 10%-15% จะส่งผลกระทบต่อ GDP ลดลงถึง -0.9-1% ขณะนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้นมีจุดเด่นและมีความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน ท่องเที่ยวพ่วงบริการทางการแพทย์ การท่องเที่ยวด้านการจัดประชุม ทางการควรส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านใหม่ เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงการศึกษาและวัฒนธรรม การท่องเที่ยวผจญภัย เป็นต้น ภาครัฐและภาคเอกชนท่องเที่ยวต้องร่วมกันพัฒนาด้านอุปทานของธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีคุณภาพมากขึ้น การบำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยว มีความเพียงพอของบุคลากรในการดูแลด้านความปลอดภัย นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาและคุณภาพการบริการ เป้าหมายสร้างรายได้ท่องเที่ยวปี พ.ศ. 2561 ททท ตั้งเป้าไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2.1 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโต 5% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 34-35 ล้านคน ซึ่งยังคงเป็นเป้าหมายที่มีความเป็นไปได้หากสามารถจัดการปัญหาต่างๆที่เป็นอุปสรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมทั้งขยายการท่องเที่ยวไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่และเมืองรอง