กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
หากกล่าวถึง 'วิชาสังคม' คงเป็นหนึ่งในวิชาที่หลายคนขยาด ต้องส่ายหน้าไปตามๆ กัน ทั้งเนื้อหาที่เยอะ ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ไปจนถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนกระบวนการการเรียนรู้ในห้องเรียน ในหนังสือเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เอื้อต่อการเพิ่มความเข้าใจให้แก่เด็ก และเยาวชนได้เท่าที่ควร อย่างไรก็ดี จากปัญหาดังกล่าว หลายๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงแค่หน่วยงานการศึกษา ที่เร่งพัฒนาเนื้อหาให้กระชับ และเข้าใจได้ง่าย ปรับรูปแบบการเรียนการสอนด้วยสื่อการสอนสมัยใหม่ให้มากขึ้น ยังรวมไปถึง สถาบันพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ ที่จัดทำองค์ความรู้นิทรรศการ ตลอดจนกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และสอดคล้องกับบทเรียนของเด็กเพิ่มมากขึ้น เพื่อยกระดับการเรียนรู้เยาวชนไทย ผ่านการศึกษานอกห้องเรียน
ที่ผ่านมา มิวเซียมสยาม ได้จัดทำ "มิวเซียมติดล้อ (Muse Mobile)" ในชื่อชุด เรียงความประเทศไทย ฉบับย่อ ซึ่งเป็นนิทรรศการเคลื่อนที่ ในตู้คอนเทนเนอร์ ที่ย่อยเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และพัฒนาการของความเป็นไทย ที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่อยู่ในบทเรียนของเยาวชน เน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ สื่ออินเตอร์แอ๊กทีฟ ตลอดจนกิจกรรม และสื่อพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อปิดจุดอ่อน เสริมความรู้ความเข้าใจการเรียนวิชาสังคม ทำให้การเรียนวิชาสังคมนั้นไม่น่าเบื่ออย่างเคย โดยล่าสุด มิวเซียมสยาม นำมิวเซียมติดล้อชุดดังกล่าว ไปจัดแสดง ณ จังหวัดลำพูน
นางพัชรา ขาวแสง ครูชำนาญการพิเศษ วิชาสังคมศึกษา โรงเรียนอนุบาลลำพูน กล่าวว่า วิชาสังคมศาสตร์ เป็นหนึ่งในวิชาที่เนื้อหาเยอะ และมีความซับซ้อน โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่อาจจะยังไม่มีประสบการณ์มากนัก จึงมักจะทำให้ผู้เรียนจินตนาการภาพตามได้ยาก ตลอดจนแนวทางการสอนโดยทั่วไป ที่การเรียนการสอนเกิดขึ้นเพียงในห้องเรียนสี่เหลี่ยม จึงทำให้ผู้เรียนมักมีทัศนคติต่อ วิชาสังคมศาสตร์ ว่าเป็นวิชาที่น่าเบื่อ เข้าใจยาก และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ ทั้งที่แท้จริงแล้ว วิชาดังกล่าว เป็นวิชาที่ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ ส่งเสริมจินตนาการ อีกทั้งยังสร้างสำนึก และความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ และประเทศ อย่างไรก็ดี การมีมิวเซียมติดล้อ ชุดเรียงความประเทศไทย มาจัดแสดง ทำให้ทางผู้สอน มีอีกหนึ่งตัวเลือกสื่อการเรียนรู้ ที่เสริมความเข้าใจให้กับเด็กๆ ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อหานิทรรศการมีความสอดคล้องกับบทเรียนในหลักสูตร อาทิ การสอนเรื่องประวัติศาสตร์ไทย ที่เด็กๆ ไม่ค่อยให้ความสนใจ เนื่องจากต้องเรียนผ่านตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว หรือการสอนเรื่องภูมิศาสตร์ ที่เด็กๆ เข้าใจได้ยาก เนื่องจากไม่เห็นภาพที่ชัดเจน เป็นต้น ทำให้ต่อยอดการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้หลากหลายกว่าที่เคย
น้องปลายฝน – เด็กหญิงชนเนรษฐ์ เพชรวารี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่1 โรงเรียนอนุบาลลำพูน กล่าวว่า ตนชอบเรียนวิชาสังคม เพราะมีเรื่องราวทางประวัติศาตร์ชวนให้ติดตาม และน่าตื่นเต้น แต่การเรียนกับหนังสือแบบเรียนเพียงอย่างเดียว ยังทำให้ไม่ค่อยเข้าใจ จินตนาการภาพตามไม่ได้ แต่หลังจากได้มาชม มิวเซียมติดล้อ ทำให้ได้เห็นสิ่งที่คุณครูเคยสอนในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็น ยุคสมัยประวัติศาสตร์ไทย แผนที่ประเทศไทยที่สอดแทรกเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่เข้าใจง่ายมากขึ้น ข้าวของเครื่องใช้ การแต่งกายในสมัยก่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้เข้าใจแล้ว ยังสนุกและสามารถจับต้องได้อีกด้วย ทำให้รู้สึกรักการเรียนวิชาสังคมเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ด้านน้องฮีโร่ - เด็กชาย ธันยพิพัฒน์ หิริโอตัปปะ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่1 โรงเรียนอนุบาลลำพูน กล่าวว่า ปกติไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกไปศึกษานอกสถานที่เท่าใดนัก ตนรู้สึกดีใจ ที่มี มิวเซียมติดล้อ มาจัดแสดงอยู่ที่จังหวัด เพราะทำให้ตนได้เรียนรู้เนื้อหา และเกร็ดความรู้ที่บางอย่างไม่ได้มีอยู่แค่ในหนังสือแบบเรียน และทำให้รู้สึกสนุกกับการเรียนวิชาสังคมเพิ่มมากขึ้น นอกจากการชมนิทรรศการแล้ว มิวเซียมติดล้อยังมีกิจกรรมต่างๆ ให้ร่วมสนุก เช่น การได้ลงมือขุดหาของโบราณ ซึ่งเป็นแรงบันดาลให้ตนอยากเป็นนักโบราณคดีและตนเองอยากให้จัดกิจกรรมดีๆ เหล่านี้ ไปยังที่อื่นๆ เนื่องจากอยากจะให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ที่สนุกนอกห้องเรียน แบบที่ตนได้สัมผัสอีกด้วย
นางนิตยา เนตรแสนสัก ครูประจำรายวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนอนุบาลลำพูน กล่าวว่า การเรียนการสอนในห้องเรียนนั้น ยังเป็นสิ่งจำเป็น แต่กระนั้น ก็ไม่ควรตีกรอบการเรียนรู้สำหรับเยาวชนด้วยหนังสือแบบเรียนเพียงอย่างเดียว ปฏิเสธไมได้ว่า ปัจจุบัน การศึกษานอกสถานที่ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการเรียนการสอน ที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการเรียนแค่ในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็กๆ ได้เชื่อมโยงตัวของเขาเอง ไปกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาว เพราะในวงการการศึกษา เมื่อเยาวชนโตขึ้น การศึกษานอกห้องเรียนที่เน้นการปฏิบัติผ่านประสบการณ์จริงนั้น ยิ่งมีความสำคัญ ดังนั้นผู้สอนเอง ควรปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ แก่เยาวชนมากยิ่งขึ้น และตนต้องการเห็นโครงการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่นเดียวกับ มิวเซียมติดล้อนี้ ให้เกิดมากขึ้นในสังคมไทย
มิวเซียมสยาม เล็งเห็นถึงความสำคัญของ การยกระดับการศึกษาและบุคลากรประเทศ อันเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า และมุ่งมั่นสนับสนุนสังคมไทย สู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ผ่านการใช้พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ โดยมีแผนเดินหน้าขยายพื้นที่การเรียนรู้เหล่านี้ เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้ประชาชนในต่างจังหวัดได้เรียนรู้ และสนุกไปกับการศึกษานอกห้องเรียนรูปแบบใหม่ๆ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสการเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ ในระดับภูมิภาค