กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน ร่วมใจได้ 2 ต่อ ฝึกอาชีพให้คนจน จัดเมนูพิเศษปรุงอาหารและแปรรูป ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด จากสถานการณ์ ผู้ปลูกสับปะรดในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดลำปาง เชียงราย พิษณุโลกและประจวบคีรีขันธ์ ประสบปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมากเกินความต้องการ ตลอดจนโรงงานสับปะรดกระป๋องชะลอการรับซื้อ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ให้ความช่วยเหลือตามภารกิจของหน่วยงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า กพร. ได้ขอความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรภายใต้ภารกิจ ซึ่งมีสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่มีการเพาะปลูกสับปะรด ให้ความช่วยเหลือก่อนแล้ว อาทิ สนพ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้นำสับปะรดในพื้นที่ มาใช้ในการฝึกอาชีพตามโครงการ ครัวไทยสู่ครัวโลก จำนวน 2 รุ่น 40 คน ในสาขา การประกอบอาหารไทย โดยคัดเลือกเมนูที่นำสับปะรดมาเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร เพิ่มเติมจากรายการฝึกปกติ อาทิ หมูสามชั้นต้มสับปะรด ผัดเปรี้ยวหวาน แกงเหลืองสับปะรด แกงคั่วหมูสับปะรด ข้าวผัดสับปะรด แกงมัสมั่นหมู เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นำมาใช้ในการฝึกอาชีพให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่ง สนพ.ประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินการฝึกไปแล้ว 4 รุ่น รวม 80 คน พร้อมกับให้คำแนะนำในการนำสับปะรดมาเป็นไส้ขนมปังในรูปแบบต่างๆ ด้วย
ด้านนางสาวกอบกุล มะลิวัลย์ ผู้อำนวยการ สนพ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้วางแผนการฝึกอาชีพในสาขา การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยนำพืชผลทางการเกษตรภายในจังหวัดที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ อาทิ มะพร้าวและสับปะรด สำหรับการแปรรูปสับปะรดนั้น เมนูที่นำมาฝึกเพิ่มเติมคือ การทำแยมสับปะรด ซึ่งจะเปิดในเดือนกรกฎาคมคมนี้อีก 4 รุ่น ประกอบด้วยสาขา การประกอบอาหารไทยอีก 1 รุ่น การทำเบเกอรี 1 รุ่น และอีก 2 รุ่นเป็นสาขาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยแต่ละรุ่นจะมีเมนูที่ใช้สับปะรดเป็นส่วนประกอบ
นางสาวสุกัญญา แดงเขียว (เจี๊ยบ) อายุ 41 ปี อาชีพ ค้าขาย เข้าฝึกอาชีพตามโครงการผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เจี๊ยบเล่าว่า ก่อนหน้านี้ทำวุ้นมะพร้าวส่งตามร้านขายอาหาร มีรายได้วันละประมาณ 200-300 บาท มีความสนใจการทำโดนัทเป็นพิเศษและคิดว่าจะนำมาต่อยอดจากอาชีพเดิมได้ เพราะโดนัททำง่าย ลงทุนน้อย ในช่วงแรกต้องฝึกทำและจำหน่ายให้กับกลุ่มเด็กนักเรียนตามโรงเรียนก่อน หลังจากนั้นคิดว่าจะติดต่อกับหน่วยงานราชการ เพื่อทำเป็นอาหารว่างในการประชุม ควบคู่กับการส่งจำหน่ายในร้านขายอาหารที่เคยส่งวุ้นมะพร้าว และคิดว่าจะทำให้ตนเองมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างน้อยวันละ 400-500 บาท ก็เพียงพอกับการใช้จ่ายในครอบครัว
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม และหันมาปลูกสับปะรดกันมากในปีนี้ ส่งผลให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณมาก ซึ่ง 80 % เป็นการจำหน่ายผลผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ และอีก 20% เป็นการจำหน่ายเพื่อบริโภคและแปรรูป การนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูป และความร่วมมือของทุกฝ่าย จะช่วยบรรเทาความเดือนร้อนได้บางส่วน ดังนั้นหากประชาชนมีความรู้ หรือมีช่องทางในการประกอบอาชีพมากขึ้น ปัญหาดังกล่าวก็จะค่อยๆ ลดลง อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย