กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--เอยูโพล
กรณีศึกษา: ตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร
สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องฟุตบอลโลก 2018 กรณีศึกษา : ตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,210 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-10 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา พบว่า
ตัวอย่างประมาณครึ่งหรือร้อยละ 50.79 เป็นหญิง และร้อยละ 49.21 เป็นชาย เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า ร้อยละ 8.86 มีช่วงอายุอยู่ระหว่าง 18-19 ปี ร้อยละ 20.64 มีอายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 22.45 มีอายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 23.94 มีอายุอยู่ระหว่าง40-49 ปี และร้อยละ 24.11 มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ด้านสถานภาพสมรส พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 60.16 สมรสแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 30.46 เป็นโสด และร้อยละ 9.38 เป็นหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ ส่วนการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุด พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 48.55 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 46.67 ระดับปริญญาตรี และร้อยละ 4.78 สำเร็จการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี ส่วนรายได้ส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 29.29 มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ร้อยละ 32.28 มีรายได้ 15,001-25,000 บาท ร้อยละ 23.79 มีรายได้ 25,001-35,000 บาท และร้อยละ 14.64 มีรายได้สูงกว่า 35,000 บาท สำหรับอาชีพ พบว่า ร้อยละ 29.24 อาชีพพนักงาน/บริษัทเอกชน ร้อยละ 20.38 อาชีพค้าขาย ร้อยละ 18.88 อาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 14.54 เป็นอาชีพรับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และร้อยละ ร้อยละ 16.96ประกอบอาชีพอื่นๆ ได้แก่นักเรียนนักศึกษาธุรกิจส่วนตัว พ่อบ้านแม่บ้าน เกษียณอายุ ว่างงาน พนักงานมหาวิทยาลัย
ฟุตบอลโลกยังคึกคักเหมือนเดิม ... แต่คนกรุงส่วนใหญ่เลือกดูเป็นบางแมทช์ ...
มหกรรมฟุตบอลโลก 2018 ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 21 จัดขึ้นที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ทางเอยูโพลจึงได้สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ เกี่ยวกับฟุตบอลโลก 2018 พบว่า คนกรุงเทพฯ ประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 49.34) มองว่า บรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ในบ้านเรายังคงคึกคักเหมือนกับฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา แต่ก็มีอีกไม่น้อย (ร้อยละ 37.42) ที่มองว่า ฟุตบอลโลกครั้งนี้คึกคักน้อยกว่าเดิม
ถึงแม้จะบอกว่าคึกคัก แต่การดูถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกหนนี้ คนกรุงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63.58) กลับติดตามดูเป็นบางแมทช์เท่านั้น คือ แมทช์ที่ไม่ดึกเกินไปหรือเฉพาะแมทช์ซึ่งทีมที่เชียร์ลงแข่ง และติดตามผลการแข่งขันผ่านทางสื่อต่างๆ (ร้อยละ 50.91) ภายหลังการแข่งขันมากกว่าจะการดูถ่ายทอดสด (ร้อยละ 24.38)
เกือบ 1 ใน 3 เล่นพนันบอล ... แต่ไม่อยากให้มีพนันบอลอย่างถูกกฎหมาย ...
ในเรื่องเกี่ยวกับการพนันบอล พบว่า คนกรุงประมาณ 1 ใน 3 เล่นพนันฟุตบอลโลก ทั้งเว็บออนไลน์ (ร้อยละ 6.38) โต๊ะบอล (ร้อยละ 3.24) หรือพนันสนุกๆ กับคนอื่น (ร้อยละ 17.08) ทางเอยูโพลจึงถามลึกลงไปอีกว่า ถ้าให้รัฐเข้ามาจัดการและควบคุมให้มีการพนันฟุตบอลอย่างถูกกฎหมายจะเป็นอย่างไร มีเสียงส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 39.57) บอกว่า ควร เพราะจะได้ทำให้มีบ่อนถูกกฎหมาย มีเงินหมุนเวียนในประเทศ บ่อนผิดกฎหมายจะได้น้อยลง ฯลฯ อีกส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 60.43) บอกว่า ไม่ควร เพราะเป็นการมอมเมาประชาชน ซึ่งการพนันเป็นสิ่งไม่ดี สร้างหนี้ และทำให้เศรษฐกิจแย่ลง ฯลฯ
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการพนันฟุตบอลยังคงเป็นประเด็นที่สังคมยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายมุมมองถึงวิธีการในการจัดการปัญหา ซึ่งควรมีการศึกษาในเชิงลึกว่า แท้จริงแล้วควรจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย รวมทั้งเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนในอนาคต
ฟุตบอลโลกสร้างความสุข ... แต่นอนดึก ตื่นสาย กินเยอะ และเสียเงินมากกว่าเดิม ...
ฟุตบอลโลกครั้งนี้ ผู้ที่ติดตามชมต่างก็ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งในแง่ดีและไม่ดี เช่น มีความสุขเวลาทีมที่เชียร์ชนะ (ร้อยละ 67.27) ทำให้นอนดึกกว่าเดิม ซึ่งทำให้เสียสุขภาพ (ร้อยละ 63.38) ทำให้ทานมื้อดึกบ่อยขึ้น เป็นสาเหตุของโรคอ้วน (ร้อยละ 23.12) ตื่นสายกว่าเดิม ทำให้ไปเรียน/ทำงานสายหรือต้องรีบเร่งในการเดินทางมากขึ้น (ร้อยละ 21.56) รวมทั้ง เสียเงินไปกับการพนันฟุตบอล เป็นหนี้มากขึ้น (ร้อยละ 16.10) เป็นต้น
แซมบ้าบราซิล ขวัญใจคนกรุงเทพฯ ... เต็งแชมป์ที่ตกรอบ ...
กิจกรรมที่มาพร้อมกับการแข่งขันฟุตบอลโลกในบ้านเรา คือ การร่วมสนุกทายผลฟุตบอลโลกที่หน่วยงานต่างๆ จัดขึ้น พบว่า คนกรุงประมาณ 2 ใน 3 (ร้อยละ 62.80) ตั้งใจจะร่วมสนุกทายผลฟุตบอลโลก โดยทีมที่คนกรุงเชียร์มากที่สุด คือ บราซิล (ร้อยละ 15.07) รองลงมา คือ ฝรั่งเศส (ร้อยละ 13.23) สเปน (ร้อยละ 13) อังกฤษ (ร้อยละ 10.93) และเบลเยียม (ร้อยละ 9.21) เป็นต้น
ส่วนทีมที่คนกรุงคิดว่าจะเป็นแชมป์ในฟุตบอลโลกหนนี้มากที่สุด คือ บราซิล (ร้อยละ 22.01) ซึ่งตกรอบไปแล้ว ที่เหลือ คือ ฝรั่งเศส (ร้อยละ 19.34) เบลเยียม (ร้อยละ 11.22) และอังกฤษ (ร้อยละ 10.90) ที่ตบเท้าเข้าไปรอโม่แข้งกันในรอบ 4 ทีมสุดท้ายเป็นที่เรียบร้อย ส่วนม้ามืดในฟุตบอลโลกครั้งนี้ คือ โครเอเชีย ที่เข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายมาด้วย แต่กลับไม่ติดอยู่ในโผของเอยูโพลเลย
คนกรุงเทพฯ มองอนาคตไทยยากจะเป็นเจ้าภาพ ... หมดหวังเห็นทีมไทยไปลุยฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ...
เมื่อกลับมามองดูในบ้านเราว่า ประเทศไทยมีศักยภาพพอจะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในอนาคตหรือไม่ คนกรุงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85.41) บอกว่าไม่มีทาง ส่วนที่เหลือ (ร้อยละ 14.59) มองว่าพอจะเป็นได้เฉลี่ยประมาณ 11 ปีข้างหน้า เอยูโพลจึงถามเพิ่มเติมอีกว่า แล้วจะมีโอกาสได้เห็นทีมชาติไทยไปแข่งฟุตบอลโลกในอนาคตหรือไม่ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 69.10) คิดว่าไม่มีโอกาสได้เห็น ที่เหลือ (ร้อยละ 30.90) บอกว่ามีโอกาสได้เห็นเฉลี่ยประมาณ 14 ปีข้างหน้า
มุมมองของคนกรุงเกี่ยวกับเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตศรัทธาและความเชื่อมั่นที่มีต่อวงการฟุตบอลในบ้านเราว่า ยังคงต้องพัฒนาศักยภาพในด้านการบริหาร การจัดการแข่งขัน ผู้ฝึกสอน ตัวนักกีฬา ฯลฯ เพื่อให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับเอเชีย โดยเชื่อว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจ มีความมุ่งมั่น มีการบริหารจัดการที่ดี ทีมชาติไทยก็มีสิทธิ์จะได้ไปแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ในอนาคต