เปิดนวัตกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน แก้ปัญหาการสื่อสาร เพิ่มโอกาสรอดชีวิตผู้ป่วย

ข่าวทั่วไป Tuesday July 10, 2018 11:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.-- นับวันนวัตกรรมทางการแพทย์ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน ยิ่งนวัตกรรมพัฒนาและสอดคล้องกับการทำงานมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้น กิจกมน ไมตรี Founder & CEO บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด นักพัฒนานวัตกรรมหนุ่มวัย 39 ปี ผู้คิดค้นระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ (Ambulance Operation Center) หรือ AOC ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน แก้ไขข้อจำกัดเรื่องจำนวนแพทย์ฉุกเฉินที่มีไม่เพียงพอ บอกว่า ได้คิดค้นระบบนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะมีโอกาสได้พูดคุยกับแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โดยช่วงนั้นเป็นช่วงที่รถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุบ่อย แต่ทางโรงพยาบาลไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่ารถที่กำลังเกิดอุบัติเหตุ อยู่ที่ไหน ประกอบกับทุกเสี้ยววินาทีหมายถึงการโอกาสในการรอดชีวิต จึงคิดว่าหากสามารถจัดการรถพยาบาลได้อย่างเป็นระบบ และสามารถทำให้แพทย์ฉุกเฉิน 1 คน ช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น ก็น่าจะเกิดประโยชน์ จึงเริ่มต้นพัฒนาระบบ ช่วงเริ่มต้น ได้เริ่มแก้ปัญหาระบบติดตามรถพยาบาลที่ด้อยประสิทธิภาพ เช่น ระบบส่งสัญญาณที่ช้ามาก คือ ส่งสัญญาณตำแหน่งได้ทุกๆ 60 วินาที ซึ่งถือว่าช้ามาก สำหรับการทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ใช้เวลานานขนาดนั้นไม่ได้ หลังจากนั้นก็เกิดการต่อยอด ออกแบบให้ครบวงจรมากขึ้น มีการลองผิดลองถูกมากว่า 1 ปี สำหรับการติดตั้งระบบดังกล่าว ก็ไม่ได้ยุ่งยาก หรือใช้งบประมาณมากอย่างที่คิด โรงพยาบาลที่สนใจติดตั้งระบบการบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ สามารถให้ทางเทลลี่ 360 เข้าไปแนะนำระบบได้ และจะติดตั้งระบบเพื่อให้ทดลองใช้จริง หรือระบบ Demo ให้ทดลองใช้ 3-6 เดือน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะหัวใจสำคัญของการใช้เทคโนโลยีหรือสิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ คือผู้ใช้ต้องได้สัมผัส และทดลองใช้จริง จึงจะเกิดความเข้าใจในประโยชน์ที่จะได้รับจากระบบนี้ และเพื่อให้โรงพยาบาลสามารถประเมินความเหมาะสมในการลงทุนได้ ในขณะเดียวกันการที่เราเอาระบบไปให้แพทย์ได้ใช้จริง สิ่งที่เราจะได้กลับมาคือประสบการณ์ และจะได้ผลสะท้อนของระบบ เพื่อนำมาใช้พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีกเช่นกัน ปัจจุบันระบบดังกล่าวติดตั้งและทดลองใช้งานในหลายจังหวัด แต่ที่มีการซื้อระบบไปใช้งานจริงมีอยู่ 3 จังหวัด คือ รพ.วชิระภูเก็ต , รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ และ โรงพยาบาลศูนย์อยุธยา นอกจากนี้ยังมีประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ใต้หวัน อินโดนีเซีย เมียนมา ลาว ก็ติดต่อเข้ามาอยากนำระบบนี้ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ในประเทศของตัวเองด้วย กิจกมน ยังบอกว่า ระบบรถพยาบาล AOC ยังถูกนำมาใช้ระหว่างเกิดเหตุภัยพิบัติด้วย อย่างเช่น เหตุการณ์ที่ทีมนักเตะหมูป่า 13 ชีวิต ติดอยู่ในวนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย รถพยาบาลของรพ. เชียงรายประชานุเคราะห์ ที่มีระบบพร้อม ก็จอดรอช่วยเหลืออยู่ที่หน้าถ้ำ 4 คัน ดังนั้นหากสามารถช่วยเหลือเด็กๆ ได้ ก็จะสามารถส่งอาการไปยังโรงพยาบาลให้ประเมินอาการ และเตรียมรับมือได้ล่วงหน้า เช่นเดียวกับที่ รพ.วชิระภูเก็ต ที่ต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์เรือล่ม มีผู้เสียชิวิต และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ก็มีการนำนวัตกรรม แว่นตาเทริดอาย (3rd eye) มาปฎิบัติการช่วยชีวิตคนเรือล่มด้วย ซึ่งจะสามารถช่วยให้แพทย์ที่โรงพยาบาลปลายทางเห็นคนป่วยและให้คำแนะนำในการช่วยเหลือได้ตั้งแต่ที่เกิดเหตุ โดยยังไม่ต้องนำขึ้นรถพยาบาล สำหรับเป้าหมายในอนาคต คือ อยากจะนำระบบ AOC ไปใช้จริงในศูนย์สั่งการให้ได้ทั่วประเทศ ภายใน 5 ปี ส่วนแอปพลิเคชั่น A LIVE ที่ใช้เรียกรถพยาบาล และประเมินสุขภาพ ที่พัฒนามาคู่กับระบบ AOC กำลังจะพัฒนาให้สามารถประเมินความเสี่ยงของคนที่มีภาวะหัวใจขาดเลือดได้ เพราะโรคนี้คนมีโอกาสเป็นได้ทุกคน ถ้าเรารู้และเฝ้าระวังได้ ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้
แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ