กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
งานสัมมนาครึ่งปีของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) หัวข้อ "Property Investment Outlook" ที่จัดขึ้นในวันนี้ ได้กล่าวถึงความต้องการแหล่งเงินทุนของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT ซึ่งในงานสัมนายังได้กล่าวถึงเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตของฟิทช์ในการประเมินอันดับเครดิตของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อช่วยให้นักลงทุนมีความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย
คุณณิชยา สีมานนทปริญญา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของฟิทช์ กล่าวว่า พื้นที่เช่าในกลุ่มค้าปลีกและการพาณิชย์ในประเทศไทยที่คาดว่าจะเติบโตสูงขึ้นในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า น่าจะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกรุนแรงขึ้น และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้น่าจะมีความต้องการเงินทุนเพิ่มสูงขึ้น การออกหุ้นกู้ของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยมีมูลค่าหุ้นกู้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของมูลค่าหุ้นกู้ที่จดทะเบียนทั้งหมดในตลาด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 ฟิทช์คาดว่าการกู้ยืม รวมถึงการออกหุ้นกู้ใหม่ของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจาก มีโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบ mixed-use ขนาดใหญ่หลายโครงการที่อยู่ในแผนของผู้ประกอบการ ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินของผู้ประกอบการสูงขึ้น และอาจเกิดอุปทานส่วนเกินในตลาด หากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอ่อนแอลง
คุณยิ่งยง นิลเสนา รองเลขาธิการกลุ่มงานบริหารเงินกองทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรในงานได้กล่าวถึงประโยชน์ของการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ผ่านกองทุนอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพ ใช้เงินลงทุนไม่มาก และการบริหารจัดการที่มีพอร์ทการลงทุนที่มีการกระจายตัวของสินทรัพย์ ในขณะที่การลงทุนโดยตรงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นจะต้องมีขนาดใหญ่มากเพื่อทำให้มีการกระจายตัวของสินทรัพย์อย่างเพียงพอและมีความจำเป็นต้องมีผู้บริหารจัดการที่มีประสบการณ์ที่สูง อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรเริ่มด้วยการพัฒนาโมเดลพอร์ทการลงทุนก่อน และตามด้วยการเลือกกองทุนเป็นรายกองทุน
การสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 ท่าน ซึ่งเป็นผู้บริหารด้านการเงินจากบริษัทในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาคธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัย บริษัทจัดการกองทุน รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐ