SEAC ผนึก Arbinger Institute อัพกลยุทธ์มุ่งสู่การพัฒนาองค์กรระดับโลก นำเสนอหลักสูตร “Outward Mindset – เอาท์เวิร์ด มายด์เซต” ปลดล็อคศักยภาพให้ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday July 11, 2018 15:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--เวิรฟ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูง สานต่อความแข็งแกร่งให้องค์กรในภูมิภาคอาเซียน ผนึกสถาบันอาร์บิงเจอร์ (Arbinger Institute) ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งหลักสูตร "Outward Mindset – เอาท์เวิร์ด มายด์เซต" หนึ่งในหลักสูตรสำคัญที่ปลดล็อคศักยภาพและปรับมุมมองความคิดในตัวบุคคล เสริมรากฐานให้องค์กรแข็งแกร่งสู่ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าอบรมองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศไทยและอาเซียนแล้วมากกว่า10,000 กว่าคน โดยตั้งเป้าภายใน2 ปีมีคนให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 คนทั้งในไทยและอาเซียน นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหาร กล่าวว่า "Outward Mindset – เอาท์เวิร์ด มายด์เซต" นับเป็นหลักสูตรสำคัญเพื่อปรับมุมมองความคิดในตัวบุคคล เน้นการสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลของพนักงานเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายโดยรวม และเพิ่มศักยภาพสูงสุดให้แก่บุคลากร จนเกิดเป็นผลลัพธ์ในการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยเป็นการร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง SEAC และ Arbinger Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลักสูตรนี้ได้รับการเผยแพร่มาแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก อาทิ จีน เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บราซิล และไทย เป็นต้น ในบริษัทชั้นนำอย่าง แอปเปิล (Apple) ไอบีเอ็ม (IBM) กูเกิล (Google) บ. ฮาร์ลีย์ - เดวิดสัน มอเตอร์ (Harley-Davidson Motor Company) เนสท์เล่ (Nestle) อินเทล (Intel) โนเกีย (Nokia) พานาโซนิค (Panasonic) ไนกี้ (Nike) ยูนิลีเวอร์ (Unilever) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เฟดเอ็กซ์ (FedEx) โบอิง (Boeing) และ เชลล์ (Shell) สำหรับในประเทศไทย SEAC มีทีมผู้เชี่ยวชาญดำเนินการอบรมเรื่อง Outward Mindset โดยเฉพาะ โดยมีผู้ผ่านหลักสูตรมาแล้วกว่า 10,000 คน จากองค์กรชั้นนำ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท แอมเวย์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เป็นต้น" "เมื่อเราอยู่ในโลกยุค 'Disruptive World' ซึ่งเป็นความท้าทายของทุกองค์กรที่ต้องเร่งบริหารจัดการองค์กร ทั้งภายในและภายนอก หลายๆ องค์กรจึงต้องเร่งรีบในการปรับกลยุทธ์การตลาด รูปแบบการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการสื่อสารกับบุคลากรภายในองค์กร เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและตลาดที่เปลี่ยนความสนใจอย่างรวดเร็วตลอดเวลาได้อย่างฉับพลันและตรงจุดที่สุด องค์กรชั้นนำหลายๆ องค์กรที่เชื่อว่าทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนา ปรับมุมมองของบุคลากรทั้งสิ้น โดยเชื่อว่าหากผู้นำและบุคลากรในองค์กรปรับเปลี่ยนมุมมองในการให้ความสำคัญและนึกถึงผลกระทบของผู้อื่นอยู่เสมอ เมื่อนั้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมที่ช่วยพัฒนาศักยภาพผู้นำและบุคลากรในองค์กรให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมก้าวสู่ความสำเร็จได้ อย่างรวดเร็วและยั่งยืนมากขึ้น เหมาะกับสถานการณ์ของโลก ซึ่งหลักสูตรนี้จะช่วยส่งเสริมการบูรณาการ การทำงานร่วมกันจนนำไปสู่วัฒนธรรมที่แข็งแกร่งและจิตใต้สำนึกที่ดีของบุคลากรในองค์กร ลดความแตกแยก เพื่อการทำงานอย่างเต็มศักยภาพ นำไปสู่เป้าหมายองค์กรที่ตั้งไว้" นางอริญญา กล่าวต่อไปว่า "SEAC มองเห็นว่าในโลกยุค Disruptive World สิ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องมีคือเรื่องของภาวะผู้นำ (Leadership) และความสามารถในการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ที่จะช่วยให้องค์กรอยู่รอดได้ในสภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา โดยเราจะเป็นตัวกลางที่ช่วยพัฒนาผู้นำและองค์กรธุรกิจในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนให้ก้าวทันแนวทางปฏิบัติของธุรกิจระดับโลกจนสามารถอยู่ในเกมส์การแข่งขันทางธุรกิจและนำหน้าคู่แข่งอยู่เสมอ เพราะเมื่อบุคลากรมีการยกระดับศักยภาพ องค์กรจะเติบโต แข่งขันได้กับนานาประเทศผ่านหลักสูตรที่มีคุณภาพเหล่านี้" ดร. สิรยา คงสมพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส SEAC กล่าวเสริมว่า "หลักสูตร 'Outward Mindset – เอาท์เวิร์ด มายด์เซต' หรือ 'การปรับมุมคิดด้วยการยึดความต้องการของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง' คือ การปรับ Mindset หรือความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรม ที่จะปรับมุมมองให้บุคลากรในองค์กรเห็นความสำคัญของผู้อื่นไม่น้อยกว่าตนเอง โดยจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และนึกถึงผลกระทบของผู้อื่นอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อองค์กรมีบุคลากรที่เข้าใจ ความต้องการของทุกฝ่ายและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว ก็จะช่วยกันปลดล็อคศักยภาพที่มีอยู่และเปลี่ยนเป็นผลลัพธ์ที่ต้องการได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นลักษณะธุรกิจประเภทใด หรือกลุ่มบุคคลใด ก็สามารถนำหลักการ 'Outward Mindset – เอาท์เวิร์ด มายด์เซต' ไปประยุกต์ใช้เพื่อให้ทุกคนสามารถตระหนักถึงการรู้ตัว รู้การกระทำของตนเอง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมที่ช่วยพัฒนาศักยภาพการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข ลดการทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ส่งผลให้ผลประกอบการเติบโต องค์กรก็จะสามารถก้าวสู่ความสำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้น" ตัวอย่างการใช้ Outward Mindset องค์กรที่พัฒนาระบบขีปนาวุธชื่อดังระดับโลกอย่าง เรย์ธีออน (Raytheon) เคยต้องประสบปัญหาครั้งใหญ่หลังจากที่มีการควบรวมกิจการหลายครั้งในช่วงปี 1997 จนนำมาซึ่งความขัดแย้ง ความไม่ไว้วางใจกันในองค์กรเนื่องจากมีพนักงานหลากหลายกลุ่มที่มาจากองค์กรที่ต่างกัน แต่ภายหลังจากที่ กลุ่มผู้บริหารของ เรย์ธีออน มิลาซส์ ซิสเต็ม (Raytheon Missile Systems หรือ RMS) ได้ผ่านเข้าหลักสูตร Outward Mindset ปัญหาก็คลี่คลายลงไปอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ภายหลังจากที่ทุกหน่วยงานใน RMS ได้รับคำสั่งให้ช่วยกันหาวิธีลดค่าใช้จ่ายขององค์กรเป็นจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลา 2 เดือน จากเดิมที่ผู้บริหารเคยคิดว่าหนึ่งในทางออกคือต้องปลดพนักงานออกกว่า 200 คนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อย 20 ล้านเหรียญ แต่จากการนำแนวคิด Outward Mindset ไปใช้งาน ทำให้ผู้บริหารและพนักงานหันหน้าเข้ามาพูดคุย ปรึกษากัน ช่วยเหลือกันอย่างเปิดอก ว่าแต่ละแผนกพอจะช่วยอะไรได้บ้างเพื่อทำให้เป้าหมายนี้สำเร็จ ผลคือภายในวันแรกของการได้รับคำสั่งพิเศษนี้ RMS สามารถหาวิธีลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 7 ล้านเหรียญ และจากความพยายามร่วมกันของทุกฝ่าย บริษัทยังบรรลุตามเป้าหมายในการลดค่าใช้จ่ายจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ภายในระยะเวลา 2 เดือน โดยไม่ต้องมีพนักงานคนไหนถูกปลดออกเลย "SEAC มุ่งมั่นในการผลักดันหลักสูตรต่างๆ โดยเฉพาะ 'Outward Mindset – เอาท์เวิร์ด มายด์เซต' เพื่อปรับมุมมองของบุคคลให้พร้อมขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งต่อองค์ความรู้ไปยังองค์กรชั้นนำ และบุคลากรภายในประเทศไทยและอาเซียนได้อีกกว่า 30,000 คน" นางอริญญา กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ