กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--สกว.
โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่ผันผวนทั้งจากปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ความเสี่ยงของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และจากปัจจัยที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การบริหารจัดการน้ำจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดความผันผวนที่เกิดขึ้นและส่งเสริมการพัฒนาประเทศ
รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวในแถลงข่าว"น้ำท่วม-น้ำแล้ง-น้ำขาด รับมืออย่างไร ภายใต้แผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี"ว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เมื่อน้ำมีจำกัด การบริหารจัดการน้ำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมและมีการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเมื่อยามเกิดภัยพิบัติจากน้ำ เราจะวางแผนรับมืออนาคตที่มีความไม่แน่นอนกันอย่างไร ทุกคนในสังคมต้องการน้ำไปใช้ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และบริการ โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่ใช้น้ำมากที่สุด หรือกระทั่งการใช้น้ำผลิตพลังงาน รวมถึงการขยายตัวของเมืองมากขึ้น ปริมาณความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น ในขณะที่น้ำต้นทุนมีจำกัด ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มมากยิ่งขึ้น สกว.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์น้ำและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และในยุทธศาสตร์ใหม่ของ สกว. ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับเรื่องที่ให้ผลกระทบ impactจากงานวิจัย และงานวิจัยด้านน้ำจะมุ่งเน้นประเด็นการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ของการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหลัก
"จากอดีตจนถึงปัจจุบันการทำวิจัยด้านน้ำของ สกว. พยายามสนับสนุนให้เกิดการนำ output จากงานวิจัย และงานวิจัยเชิงพื้นที่ ไปเปลี่ยนผลกระทบหรือimpact ที่ถูกต้องแม่นยำในระดับต่างๆมากยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจโจทย์งานวิจัยที่เกิดจากผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย จะทำให้ผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และก่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างมาก โดยเฉพาะงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ที่ไปสนับสนุนการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และตอบโจทย์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำด้านต่างๆ ซึ่งผลจะเกิดเป็นรูปธรรมได้ต้องเริ่มจากโจทย์ หรือประเด็นงานวิจัยจากผู้ใช้ประโยชน์ การจัดทำแผนที่นำทาง หรือโรดแมป และการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นวิจัยจึงถือว่ามีความสำคัญ ที่จะนำมาปฏิบัติให้เกิดผลกระทบตามที่คาดหวังไว้ได้ ถือเป็นความท้าทายใหม่ นี่คือสิ่งที่ สกว.กำลังจะทำจากนี้ไป เป้าหมายหลัก คือ งานวิจัยต้องเข้าเป้า ตอบโจทย์ เอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง"
ดร.สุภัทรา วิเศษศรี กล่าวถึงการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยการบริหารจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า สืบเนื่องมาจากการจัดเวทีสาธารณะนโยบายน้ำ สกว.ครั้งที่ 9 ภายใต้กรอบการวิจัยที่สนับสนุนงานยุทธศาสตร์ การปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เนื่องในวันน้ำโลกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง สกว. และ สทนช. เพื่อกำหนดประเด็นหรือกรอบการวิจัยด้านน้ำ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการทำงานให้กับ สทนช. และตอบโจทย์ให้กับหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องให้นำผลจากงานวิจัยไปใช้ได้จริง
ที่สำคัญแผนที่นำทางดังกล่าวจะเป็นกรอบการวิจัยด้านน้ำของประเทศที่ สกว.จะนำไปใช้ในการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนประกอบการพิจารณาจัดสรรทุนวิจัยในประเด็นยุทธศาสตร์ด้านน้ำที่หน่วยงานต้องการ จึงสามารถก่อให้เกิดผลกระทบตามที่หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำต้องการและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ สกว. คาดว่า แผนที่นำทางการวิจัยการบริหารจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือกรอบการวิจัยด้านน้ำของประเทศจะแล้วเสร็จได้ภายในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือประมาณปลายปี 2561 นี้
" เนื่องจากการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยจะรวบรวมความต้องการงานวิจัยที่จะนำมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานจากหลากหลายแหล่ง เช่น ร่างยุทธศาสตร์ ร่าง พ.ร.บ. น้ำ แบบสอบถาม และบทสัมภาษณ์จาก สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ประเด็นงานวิจัยที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลนี้จะนำมาพัฒนาเป็นกรอบงานวิจัยยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นประเด็นที่หน่วยงานต้องการและมีความสำคัญ จึงเป็นเครื่องมือช่วย สกว.ในการคัดกรองและจัดลำดับการให้ทุนวิจัย เพื่อให้ สกว.ทำงานง่ายขึ้น ตรงเป้าที่ต้องการมากขึ้น คือ เมื่อให้ทุนแล้วยังได้งานวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลกระทบ impact เพราะประเด็นวิจัยได้มาจากผู้ที่ใช้จริงและมีการจัดลำดับความสำคัญ"
สำหรับหัวข้อการวิจัยเบื้องต้นที่ได้รับโจทย์มาจากผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายที่ต้องการงานวิจัยมารองรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เช่น สทนช. ที่มีความต้องการงานวิจัยที่เน้นการบูรณาการข้อมูลและนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การใช้เครื่องด้านเศรษฐศาสตร์ในการวางแผน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และการบริหารน้ำที่เอาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม หรือแนวทางประชารัฐ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์น้ำและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น
ด้านตัวแทนจากคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานด้านน้ำ ต้องการงานวิจัยในเรื่องการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) และผลิตภาพของน้ำ (Water Productivity) เพื่อเพิ่มผลผลิตที่ได้จากน้ำในทุกภาคการผลิตและการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Water Resilience) ส่วนตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นงานวิจัยเกี่ยวกับการประเมินศักยภาพของแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำแบบ area base เพราะแต่ละพื้นที่มีสภาพต่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเดียวกัน การใช้ soft engineering เช่น การนำความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน หรือศาสตร์ด้านต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาซึ่งเป็นวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยก่อให้เกิดการบริหารจัดการแบบยั่งยืน
นอกจากนี้ยังมีความต้องการงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการน้ำระหว่างประเทศ เพราะปัจจุบันนอกจากน้ำในประเทศแล้วยังมีการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาใช้ หรือ งานวิจัยในประเด็นการเอาข้อมูลเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการจัดการน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นต้น ซึ่งกรอบงานวิจัยหรือประเด็นเหล่านี้ ถือเป็นโจทย์ความต้องการเบื้องต้นจากผู้ใช้ประโยชน์จากการวิจัย และต้องการนำไปใช้จริง ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลกระทบที่ถูกต้อง และแม่นยำ การดำเนินการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยการบริหารจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจากนี้ จะมีการรวบรวมข้อมูล ประมวลสถานภาพการวิจัยในเรื่องน้ำที่ผ่านมา รวมทั้งศึกษายุทธศาสตร์และนโยบายน้ำ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ นำมาสังเคราะห์ เพื่อระบุประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศและความต้องการของหน่วยงาน โดยเฉพาะ สทนช. ที่จะนำงานวิจัยไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุล นำไปสู่การบรรลุยุทธศาสตร์ และเป็นไปตามเป้าหมายของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ต้องการให้การบริหารจัดการดีขึ้น มีความมั่นคง ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น