กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป
กลุ่มทิสโก้ เผยผลประกอบการครึ่งปีแรก 2561 กำไรสุทธิ 3,475 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16.0%เป็นผลจากความสามารถในการสร้างรายได้ ทั้งรายได้ดอกเบี้ย และรายได้ค่าธรรมเนียม ประกอบกับการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ
นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr.Suthas Ruangmanamongkol, Group Chief Executive) เปิดเผยว่า กลุ่มทิสโก้ประกาศผลการดำเนินงานสำหรับงวดครึ่งแรกของปี 2561 มีกำไรสุทธิ 3,475 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 479 ล้านบาท หรือ เติบโต 16.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผลการดำเนินงานสำหรับงวดไตรมาส 2ของปี 2561 มีกำไรสุทธิ 1,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 204 ล้านบาท หรือ เติบโต 13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจัยหลักในการขยายตัวมาจากความสามารถในการสร้างรายได้ และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจนายหน้าประกันภัย (Bancassurance) และธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน ส่วนในภาพรวมสินเชื่อแม้จะปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ธุรกิจหลักของกลุ่มทิสโก้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่อจำนำทะเบียน (TISCO Auto Cash)
สำหรับกลยุทธ์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ กลุ่มทิสโก้ยังคงมุ่งขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางการเงินที่ดีแก่ลูกค้าในทุกกลุ่ม และนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า ทั้งในกลุ่มลูกค้าเดิมผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างสายงาน (Cross-Selling) เพื่อเสนอบริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์และความต้องการที่หลากหลาย พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า (Add Value) และขยายไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีการเติบโต โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียน "ทิสโก้ออโต้แคช" ที่ปล่อยผ่านช่องทาง"สมหวัง เงินสั่งได้" ที่ในครึ่งปีแรกขยายตัวมากถึง 19.0% ในส่วนของการขยายฐานลูกค้าเงินฝากจะเน้นกลุ่มระดับรายได้ปานกลางขึ้นไป และกลุ่มเข้าสู่วัยเกษียณตามแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงยังมองหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มช่องทางบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
"ในภาพรวมเรายังคงเดินหน้าในการเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางการเงินที่ดี คัดสรรและแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ควบคู่ไปกับการควบคุมต้นทุน และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดำเนินมาโดยตลอด" นายสุทัศน์ กล่าว
สรุปผลประกอบการงานงวดไตรมาส 2/2561 และงวดครึ่งปี 2561
ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้งวดไตรมาส 2 ปี 2561 เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2560 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6% จากการปรับตัวดีขึ้นทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมจากทุกภาคธุรกิจ ประกอบกับผลกำไรที่เพิ่มขึ้นจากพอร์ตสินเชื่อที่รับโอนมาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.1% จากความสามารถในการรักษาอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรวม และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยที่ได้รับจากธุรกิจสินเชื่อที่รับโอน รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักเพิ่มขึ้น 10.6% จากการเติบโตของทุกธุรกิจหลัก รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์เติบโตจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจนายหน้าประกันภัย ในขณะที่รายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานของธุรกิจจัดการกองทุนเติบโตได้ดีในภาวะตลาดทุนที่ผันผวน กลุ่มทิสโก้ยังคงรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมอยู่ในระดับต่ำที่ 43.8% ประกอบกับการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง
ในส่วนของผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2561 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 16.0%จากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม รายได้ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการรับโอนธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโตทุกภาคธุรกิจ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นตามค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรับโอนธุรกิจ และการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 มีจำนวน 237,367 ล้านบาท ลดลง 1.4% จากไตรมาสก่อนหน้า จากการชำระคืนหนี้ของสินเชื่อบรรษัทและสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อย่างไรก็ดี สินเชื่อจำนำทะเบียนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของสินเชื่อ "สมหวัง เงินสั่งได้" ซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 9.1% ในไตรมาสที่ผ่านมา ตามแผนการขยายธุรกิจและการขยายสาขาสำนักอำนวยสินเชื่อ ในไตรมาสที่ผ่านมา หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.7% อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการตั้งสำรองหนี้สูญเพียงพอ ด้วยสัดส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ระดับ 184.9%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดทั้งปี โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 22.7% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 10.375% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 17.7% และ 5.0% ตามลำดับ