กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค เรื่อง Regional Workshop on Safety Review and Assessment by the Regulatory Body ตั้งแต่วันที่ ๙ – ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ณ ห้องประชุม ๑๐๓ อาคาร ๔ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โดยมี ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมดังกล่าว วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานนิวเคลียร์ พร้อมยกระดับวัฒนธรรมความปลอดภัยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค
ดร. อัจฉรา เปิดเผยว่า ปส. มีภารกิจหลักในการกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้พลังงานนิวเคลียร์ของประเทศไทย จึงมุ่งมั่นในอันที่จะเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมด้านวัฒนธรรมความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล อีกทั้ง ปส. ยังเป็นองค์กรหลักของประเทศในการประสานความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทยกับ IAEA ดังนั้น เพื่อให้บรรลุถึงภารกิจอันสำคัญดังกล่าว ปส. จึงได้ร่วมกับ IAEA จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงาน Regulatory Activity Section ของ IAEA ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ประเทศเกาหลีใต้ (Korea Institute of Nuclear Safety: KINS) และผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ประเทศปากีสถาน (Centre for Nuclear Safety: CNS) มาให้ความรู้แก่ผู้เข้าอบรม ซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้พลังงานปรมาณูของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย อิหร่าน จอร์แดน มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากมหาวิทยาลัยสุรนารี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และ ปส. รวมทั้งหมดกว่า ๓๐ คน
ดร. อัจฉรา กล่าวต่อไปว่า การฝึกอบรมดังกล่าวอยู่ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระดับภูมิภาค โครงการ RAS9086 - Strengthening regulatory infrastructure and enhancing the safety culture in nuclear installations and material within Asia Pacific Region ซึ่งเป็นโครงการที่ IAEA ให้การส่งเสริมและสนับสนุนประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานนิวเคลียร์และยกระดับด้านวัฒนธรรมความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานปฏิบัติการทางนิวเคลียร์และวัสดุนิวเคลียร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นต่อโยชน์ต่อการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ อีกด้วย