กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--กองสื่อสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน ปรับแผนการฝึกช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ย้ำ ช่างอเนกประสงค์น่าสนใจ ด้านอาหารยังเป็นที่นิยม ผลักดันสาขาการแปรรูปอาหาร นำสับปะรดร่วมในการฝึกอาชีพ
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบนโยบายและให้ปรับแผนการฝึกอาชีพตามโครงการพัฒนาศักยภาพผู้มีรายได้น้อย พร้อมย้ำการฝึกช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างมาก ใช้ระยะเวลาการฝึก 10 วัน (60 ชั่วโมง) เป็นการฝึกทักษะด้านช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างประปาท่อสุขภัณฑ์ และช่างปูกระเบื้อง ซึ่งจะเป็นสาขาที่ชุมชนต้องการ จะมีการมอบเครื่องมือประกอบอาชีพให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม เพื่อนำไปประกอบอาชีพอีกด้วย มีเป้าหมายดำเนินการ 81,000 คน
อีกกลุ่มหนึ่งคือการฝึกอาชีพเสริมหรืออาชีพอิสระ หลักสูตรมีทั้ง 18 ชั่วโมง 30 ชั่วโมง และ 60 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาขาที่ฝึกว่าต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไร เมื่อจบแล้วสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ ซึ่งหลักสูตรนี้ มีทั้งด้านบริการและด้านช่าง ซึ่งหลักจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยพี่น้องผู้ปลูกสับปะรด ประสบปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ได้มอบหมายให้กพร.ดำเนินการช่วยเหลือตามภารกิจ ในส่วนนี้เอง จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค จัดเมนูพิเศษที่เกี่ยวกับการนำสับปะรดมาเป็นส่วนประกอบในการทำอาหารแต่ละชนิด รวมทั้งแปรรูปสับประรดเพื่อเพิ่มมูลค่าและต่อยอดไปสู่การประกอบธุรกิจ โดยหลายจังหวัดได้ปรับแผน และจัดเมนูที่เกี่ยวข้องกับสับปะรด และสอดรับกับอาหารของจังหวัดแล้ว
สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี มีทำเมนู "เค็มบักนัด" อยู่ในรายการฝึกอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยด้วย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านโบราณในการถนอมอาหารคนอีสาน เป็นการแล่เอาเนื้อปลาสดมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เคล้ากับเกลือป่นและเนื้อสับปะรด แล้วนำไปอัดใส่ขวด ปิดฝาให้แน่น หมักไว้หลายๆ วัน พอเนื้อปลาหอม และได้ระยะเวลาที่เหมาะสมก็นำมากินได้ โดยปรุงในรูปของอาหารต่างๆ สำหรับกินกับผักสด เช่น หลนเค็มบักนัด ตุ๋นเค็มบักนัด เป็นต้น
สำหรับจังหวัดอื่นๆ อาทิ จังหวัดแพร่ เชียงราย ลำปาง ได้เตรียมวางแผน จัดเมนูที่เกี่ยวกับสับปะรดด้วยเช่นกัน ทั้งในสาขาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น การทำแยมสับปะรด สาขาการประกอบอาหาร เช่น ผัดเปรี้ยวหวาน แกงมัสมั่นหมู
การฝึกอาชีพเสริมให้กับผู้มีรายได้น้อยในบางจังหวัด ดำเนินการฝึกในสาขาด้านช่าง อาทิ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานหนองบัวลำภู ดำเนินการฝึกสาขาก่อสร้างอาคารไม้ มีระยะเวลาการฝึก 60 ชั่วโมง จากการพูดคุยกับ นายสำรอง ไชยราช (ลุงโบ้) อายุ 52 ปี ลุงโบ้เล่าว่า ก่อนหน้านี้เป็นช่างทั่วไป มีความรู้งานช่างประเภทงานไม้อยู่บ้างแล้ว แต่พอไปฝึกอาชีพตามโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลแล้ว ทำให้รู้เทคนิคการประกอบงานไม้หลายอย่าง จากที่เคยใช้เวลาทำนานถึงครึ่งชั่วโมง ตอนนี้ลุงทำเสร็จภายใน 10 นาที และมีอีกหลายเรื่องที่ลุงเข้าใจวิธีการทำที่ง่ายขึ้น และปัจจุบัน สามารถรับงานมากขึ้น พร้อมกับพูดปิดท้ายด้วยว่า มีความมั่นใจมากขึ้นเพราะลุงได้รับใบประกาศการฝึกอาชีพด้วย
"โครงการพัฒนาศักยภาพผู้มีรายได้น้อยฯ ที่กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการนั้น มุ่งหวังเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพ ทั้งอาชีพเสริม และอาชีพหลัก เช่น ลุงโบ้ มีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น หรือบางส่วนสามารถเข้าสู่การจ้างงานในสถานประกอบกิจการได้ นอกจากนี้ยังสามารถรับงานไปทำที่บ้าน เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้า หากทุกคนนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด ประกอบอาชีพ จึงเชื่อมั่นว่าผู้เข้ารับการฝึกกว่าร้อยละ 65 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน" อธิบดีกพร.กล่าวทิ้งท้าย