กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร วันที่ 28 กรกฎาคม 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำโครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง สืบสาน "ศาสตร์พระราชา" ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งถือเป็นโครงการที่สร้าง ความสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรป่าไม้ ที่ทุกฝ่ายตระหนักในคุณค่าของป่าต้นน้ำ พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริไปเป็นแนวทางในการสร้างความเข้าใจ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อรักษาระบบนิเวศป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ทำให้ป่าต้นน้ำได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพื้นที่ชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นการเร่งขยายพันธุ์กล้าไม้ให้กลายเป็นสภาพป่าธรรมชาติ
วันที่ 13 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.00 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นประธานในการแถลงข่าวการจัดโครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง สืบสาน "ศาสตร์พระราชา" ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทร- เทพยวรางกูร ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห้อง 115 พร้อมกล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติวันพระราชสมภพในหลวงรัชกาลที่ 10 และเป็นการน้อมนำแนวคิด "สร้างความชื้นสัมพัทธ์ ในอากาศ สืบสานศาสตร์พระราชา" ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้มากขึ้น เพื่อช่วยในการเพิ่มโอกาสให้เกิดฝน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการปฏิบัติการฝนหลวงให้ประสบผลสำเร็จเพิ่มขึ้น และ มีการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้สามารถกลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมกับการสร้างผืนป่าให้เกิดความชุ่มชื้นเพื่อเป็นการเพิ่มป่าต้นน้ำ เพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน ตลอดจนการปลูกป่าไม้ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และไม้ยืนต้น บริเวณหัวไร่ปลายนา และยังเป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่าในการดำรงชีวิต การใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน ที่สำคัญโครงการนี้เป็นการฟื้นฟูทำให้ทรัพยากรป่าไม้ในประเทศได้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม
การดำเนินการในโครงการฯ แบ่งเป็น 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย
- กิจกรรมพิธีเปิด ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีกิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้น ณ บริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และกิจกรรมการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ทั้ง 5 ภูมิภาค
- กิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้น ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2561 โดยเป็นการปลูกป่าไม้ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และการปลูกไม้โตเร็วตามหัวไร่ปลายนาร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน เช่น ศูนย์ปฏิบัติงานฝนหลวง โรงเรียน อาสาสมัครฝนหลวง เป็นต้น
- กิจกรรมการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2561 ซึ่งดำเนินการไปพร้อมกับการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละวัน โดยเลือกพื้นที่การโปรยเมล็ดพันธุ์ในบริเวณ ป่าเสื่อมโทรมและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
สำหรับพื้นที่ดำเนินงานกิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้น และกิจกรรมการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร แบ่งความรับผิดชอบโดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงแต่ละภูมิภาค ดังนี้
ภาคเหนือ รับผิดชอบโดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ
ปลูกป่าและไม้ยืนต้นบริเวณพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ขนาดพื้นที่ 5 ไร่ ชนิดกล้าไม้ ได้แก่ ประดู่, ตะเคียน, ยางนา, มะขามป้อม, ขนุน, ชมพู่, มะม่วง ซึ่งได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนา ห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และดำเนินกิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ดำเนินการบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จ.เชียงใหม่ ขนาดพื้นที่ 900 ไร่ โดยใช้ชนิดเมล็ดพันธุ์ มะค่าโมง, มะขามป้อม, สมอพิเภกและสัก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รับผิดชอบโดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกป่าและไม้ยืนต้นบริเวณพื้นที่สาธารณประโยชน์ สระโศกเดือนห้า อบต.แดงใหญ่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขนาดพื้นที่ 80 ไร่ ชนิดกล้าไม้ ได้แก่ พะยูง, เต็ง, รัง, แดงและประดู่ และได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากศูนย์เพาะชำกล้าไม้ อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น และกิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ดำเนินการบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขนาดพื้นที่ 3,100 ไร่ โดยใช้ชนิดเมล็ดพันธุ์ มะค่าแต้และมะขามป้อม
ภาคตะวันออก รับผิดชอบโดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก
ปลูกป่าและไม้ยืนต้นบริเวณพื้นที่ชุมชนนาหลวง ต.บ้านด่าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ขนาดพื้นที่ 10 ไร่ ชนิดกล้าไม้ ได้แก่ ประดู่, ยางนา, และตะแบก โดยได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากสำนักจัดการทรัพยากรที่ 9 สาขาปราจีนบุรี และกิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ดำเนินการบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว ขนาดพื้นที่ 6,900 ไร่ โดยใช้ชนิดเมล็ดพันธุ์ มะค่าโมง ประดู่ และแดง
ภาคกลาง รับผิดชอบโดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง
ปลูกป่าและไม้ยืนต้นบริเวณพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ขนาดพื้นที่ 7 ไร่ ชนิดกล้าไม้ ได้แก่ มะค่า โดยได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ และกิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ดำเนินการบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและอุทยานแห่งชาติคลองลำงู ขนาดพื้นที่ 3,500 ไร่ ชนิด เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ แบ่งออกเป็น ดำเนินการ ณ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ได้แก่ สาธร สีเสียด พฤกษ์ แดง และดำเนินการ ณ อุทยานแห่งชาติคลองลำงู ได้แก่ มะค่า ประดู่ ไผ่รวก
ภาคใต้ รับผิดชอบโดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้
ปลูกป่าและไม้ยืนต้นบริเวณพื้นที่สำนักเขื่อนไม้เต็ง อ.เมือง จ.ราชบุรี ขนาดพื้นที่ 30 ไร่ ชนิดกล้าไม้ ได้แก่ ประดู่, ยางนา, พะยูง, มะค่าโมง, แดง และรวงผึ้ง โดยได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากสถานีเพาะพันธุ์กล้าไม้ราชบุรี และกิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ดำเนินการบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และอุทยานแห่งชาติไทยประจันต์ จ.ราชบุรี ขนาดพื้นที่ 600 ไร่ โดยใช้ชนิดเมล็ดพันธุ์ มะค่าโมง, ประดู่ และมะขามป้อมป่า
ทั้งนี้ กิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดทำ Application ระบบติดตามการปลูกต้นไม้ "Collector for ArcGIS" เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามและประเมินผล การดำเนินงานโครงการดังกล่าว อีกทั้งเพิ่มความสะดวกในการติดตามข้อมูลการปลูกต้นไม้ และพื้นที่ปลูกต้นไม้ อาทิ พื้นที่ปลูก ชื่อผู้ปลูก ชื่อต้นไม้ และการดูแลรักษา ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามการปลูกต้นไม้ได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิผลในการปลูกต้นไม้ภายใต้โครงการอย่างยั่งยืนต่อไป โดยผู้สนใจสามารถ ดาวน์โหลดได้ทั้งในระบบ IOS และ Android เพื่อร่วมกิจกรรมและติดตามดูผลการปลูกไม้ของตนเอง