กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน ณ ศูนย์อำนวยการและประสานงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ จ.นครศรีธรรมราช พร้อมให้คำแนะนำในการดำเนินงานของโครงการฯ ว่า ความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง หลายๆ อาชีพได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้แบบคาดไม่ถึง การทำงานแบบองค์กรเดี่ยวอาจไม่ประสบความสำเร็จอีกต่อไป หรือหากต้องการขยายผลให้เต็มทั้งลุ่มน้ำปากพนังตามเป้าหมายที่กำหนดไว้จำเป็นต้องประสานงานกับหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีภารกิจในการสืบสานงานของพระเจ้าแผ่นดินอยู่แล้ว หากได้สร้างกลไกความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน สืบสานศาสตร์พระราชา ตั้งเป้าหมายเพื่อการขยายผลของพระเจ้าอยู่หัวตามพระราชปณิธาน คาดว่าจะสามารถเชื่อมประสานงานกันจบครบวงจรในพื้นที่ เช่น ร่วมมือกันแก้ปัญหาดิน น้ำ และนำผลผลิตอาหารปลอดภัยจับมือกับโรงพยาบาล เพื่อส่งอาหารปลอดภัยเข้าสู่โรงพยาบาล
เป้าหมายที่ 2 คือเชิญชวนร่วมมือกันเฉลิมฉลองวันดินโลก เพื่อขยายผล "รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษธรรม" จะต้องนำศาสตร์ของพระองค์ท่านลงไปแก้ไขปัญหา โดยการทำงานร่วมกันของคน 4 Generation มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาและสืบทอดภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ของปากพนัง จึงอยากเชิญชวนมาร่วมมือกันในทำ 2 เรื่อง คือ 1) บูรณาการการทำงานระหว่างโครงการพัฒนาพื้นที่ปากพนังฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ หรือสถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อมุ่งทำความเป็นท้องถิ่นสู่ความเป็นสากลโดยมีเป้าหมายแรกคือร่วมนำผลงานเฉลิมฉลองในวันดินโลก 5 ธันวาคม 2) เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วม "จัดงานวันดินโลกแบบมีส่วนร่วม" การจัดงานวันดินโลกจะเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม เดินตามรอยพ่อเหมือนที่เราตั้งใจกันไว้ด้วยการฟื้นฟูดิน ผลิตอาหารปลอดภัยไปแจกจ่ายกัน และวันที่ 5 ธันวาคมให้ทุกคนจัดงานขึ้นในพื้นที่ของตนเอง ส่วนกระทรวงฯ เองก็จะมีการจัดงานยิ่งใหญ่ร่วมกับองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งในปีนี้จะมีการมอบรางวัลวันดินโลกและการตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย Center of the Excellence for Soil Research in Asia-CESRA ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ประสบปัญหาหลายด้าน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาดำเนินการโดยจัดทำประตูน้ำอุทกวิภาชกั้นน้ำจืด น้ำเค็ม ปรับระดับน้ำ ขุดคลองระบายน้ำ จัดหาแหล่งน้ำจืดโดยสร้างอ่างเก็บน้ำ 5 แห่ง ซึ่งดำเนินการได้เพียง 1 แห่งเนื่องจากติดปัญหาด้านพื้นที่ อย่างไรก็ตามการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยสามารถดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าให้มีคุณภาพเดิม 449,395 ไร่ (23.65% ของพื้นที่ทั้งหมด) พื้นที่มีปัญหา 121,244 ไร่ ได้รับการฟื้นฟูคุณภาพดิน ประชาชนขาดแคลนน้ำ 28 หมู่บ้านมีน้ำอุปโภค บริโภคอย่างพอเพียง คุณภาพน้ำปากพนังมีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ร้อยละ 66 ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 81.93% รายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรของครัวเรือนเกษตรกรเพิ่มขึ้น 98,584.28 บาท หรือมีรายได้เฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้น 60,392 บาท/ปี ครัวเรือนยากจนต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. จำนวน 2,130 ครัวเรือน และมีแผนในการดำเนินงานเพื่อสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ควบคุมและป้องกันมลพิษ ตลอดจนเสริมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยการขยายผลพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จ โดยโครงการฯ ทำหน้าที่ 4 ด้าน คือ เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎีการพัฒนาของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นสถานที่อบรม ฝึกอาชีพ เป็นศูนย์หลักในการเชื่อมโยงและเป็นแหล่งรวมสินค้าชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ เตรียมพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตในระยะต่อไป