กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--อมตะ คอร์ปอเรชัน
ดร.แฟรงค์ ไรซ์เบอร์แมน ผู้อำนวยการใหญ่ Global Green Growth Institute (GGGI) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ และ นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เซ็นลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเตรียมความพร้อมและส่งเสริมศักยภาพภาคอุตสากรรมของไทยสู่การพัฒนาสีเขียวที่ยั่งยืนภายใต้โครงการ "เมืองสีเขียวอัจฉริยะ"
รายละเอียดของบันทึกข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ผ่านการประชุมปฏิบัติการ งานสัมมนา ตลอดจนงานศึกษาวิจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเตรียมความพร้อมและพัฒนาภาคนิคมอุตสาหกรรมไปสู่เมืองสีเขียวอัจฉริยะ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐและสหประชาชาติ
"จากการศึกษาของ GGGI พบว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือนิคมอุตสาหกรรมจัดเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในประเทศภูมิภาค มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวให้เติบโตไปข้างหน้าในรูปแบบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Zero Carbon) และปลอดขยะ (Zero Waste) เราจึงจับมือกับอมตะในฐานะหุ้นส่วนภาคเอกชนที่มีความพร้อมและเป็นผู้นำขับเคลื่อนแนวคิดนี้ไปสู่ภาคปฏิบัติได้ระดับภูมิภาค" ดร.ไรซ์แบอร์แมนกล่าว
ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว GGGI จะศึกษารายละเอียดและให้คำแนะนำเพื่อส่งเสริมและขยายความคิดริเริ่มในเรื่องของเมืองสีเขียวอัจฉริยะ เพื่อนำโครงการไปสู่ภาคปฏิบัติต่อไป โดยจะเริ่มต้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี จังหวัดชลบุรี
"เรามีนโยบายที่จะทำให้อมตะ ซิตี้เป็นพื้นที่สีเขียว และมีการบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การลงนามความร่วมมือกับ GGGI จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับอมตะ ช่วยให้เราวางแผนการใช้พื้นที่ให้ดีขึ้นและเหมาะสมกับพนักงานจำนวนมากที่ทำงานในนิคมของเราต่อไปในอนาคต" นายวิกรมกล่าว
การพัฒนาเมืองอัจฉริยะสมบูรณ์แบบหรือ Smart City ถือเป็นหนึ่งในแผนงานนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อมตะตอบสนองนโยบายดังกล่าว และทำงานร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งรัฐและเอกชนในระดับนานาชาติเพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัตอย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น โครงการการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาจากแสงอาทิตย์ โรงงานอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และโครงการบ้านและการจราจรอัจฉริยะ ภายในบริเวณนิคมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี
ทั้ง GGGI และอมตะจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานตลอดระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี เพื่อนำไปสู่การวางมาตรฐานการพัฒนาสีเขียวและบทเรียนที่เป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศไทย และในระดับนานาชาติต่อไป