กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--สวทน.
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "เศรษฐกิจชีวภาพไทย" ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1-2 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เพื่อระดมกูรูทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชน ประมาณ 80 คน มองหาแนวทางกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่แผนยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทยต่อไป
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ "ไบโออีโคโนมี" เป็นรูปแบบการพัฒนาประเทศแนวใหม่ ที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกเลือกเป็นโมเดลการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยเศรษฐกิจชีวภาพให้ความสำคัญกับการใช้ความรู้และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางทางเกษตร โดยเน้นสร้างความสมดุลทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีจุดแข็งในฐานการเกษตร เป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับที่ 11 ของโลก มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากถึงร้อยละ 10 ของชนิดที่พบในโลก รวมทั้งมีระบบนิเวศและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ดังนั้น การใช้เศรษฐกิจชีวภาพขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยจึงมีความสำคัญและเหมาะสมกับประเทศไทย อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจชีวภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีทรัพยากรที่มากเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยฐานของความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประกอบกับความสามารถในการหลอมรวมเข้ากับเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งในส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยพลังความคิด และการร่วมมือของหลายภาคส่วน จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "เศรษฐกิจชีวภาพไทย" เพื่อแสวงหาแนวทางและกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในครั้งนี้
"แม้ประเทศไทย จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพ แต่ก็ยังมีประเด็นท้าทายที่ต้องคำนึงถึงหากเราจะพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็น ความสามารถในการอนุรักษ์ biodiversity (ความหลากหลายทางชีวภาพ) การรักษาสภาพและคุณภาพผืนดินและแหล่งน้ำ การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การผลิตอาหารให้ประชากรของประเทศและประชากรโลกได้อย่างเหมาะสม การสร้างให้ภาคการเกษตรมีความต่อเนื่องและเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนการทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น การประชุมเชิงปฏิบัติการที่จัดขึ้นในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบความคาดหวังจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของประเด็นเร่งด่วนที่ต้องผลักดันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ และเพื่อให้ได้แนวทางและกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพที่สำคัญของประเทศโดยมี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ BIOTEC สวทช. เป็นผู้นำเสนอข้อมูลประเด็นสำคัญด้านต่างๆ และร่วมทำงานกับ สวทน. เพื่อนำไปจัดทำสมุดปกขาว (White Paper) ด้านเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศต่อไป" ดร.สุวิทย์ กล่าว
ประเทศไทยมีศักยภาพและโอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและสังคมด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ โดยใช้จุดแข็งที่มีอยู่ ทั้งความพร้อมของวัตถุดิบการเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพ และความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ ซึ่งนอกจากโอกาสในการใช้วัตถุดิบการเกษตรที่มีอยู่พัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแล้ว ในอีกมุมหนึ่งประเทศไทยมีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่มีความยั่งยืนและสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นธุรกิจบริการทดสอบทางการแพทย์สนับสนุนนโยบาย medical hub ของประเทศ จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจชีวภาพและประโยชน์ที่ได้ไม่ได้จำกัดที่เพียงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจ SMEs และชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการเทคโนโลยี หรือ Tech Startup อีกด้วย ทั้งนี้ การเร่งรัดให้ประเทศไทยมีการพัฒนาและเติบโตของเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน ต้องเร่งให้มีการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างความสามารถในการเพิ่มผลผลิตต้นน้ำให้เข้มแข็ง พัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ควบคู่กับการพัฒนากำลังคนเชี่ยวชาญให้เพียงพอ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น รวมถึงการกำหนดมาตรการส่งเสริม/แก้ไขกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า สวทน. ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้จัดทำนโยบายการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) หรือ สมุดปกขาวด้านเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ (STI Policy White Paper) เห็นด้วยกับการที่เลือกเศรษฐกิจชีวภาพมาขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจชีวภาพครอบคลุมถึง 5 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการเข้าร่วมรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมประชุม สวทน. จะนำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำสมุดปกขาวด้านเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทยที่สุด ซึ่งรายละเอียดที่จัดทำจะครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความสมดุลกัน พร้อมกับเร็วๆ นี้จะมีการตั้งคณะทำงานฯ ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านดังกล่าว 4 - 5 คน เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานจัดทำสมุดปกขาวต่อไป