กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนิน ทรงวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ณ อู่ธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกองน้อย กรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๘ โดยมี พลเรือเอก สามภพ อัมระปาล ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
ความเป็นมาของโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งเรื่องเรือของกองทัพเรือที่มีขนาดใหญ่ ราคาแพง มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสม สร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุด เรือ ต.๙๑ ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือ ให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม กองทัพเรือจึงพิจารณาจัดสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งดังกล่าว จำนวน ๓ ลำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยเรือดังกล่าวมีภารกิจลาดตระเวนป้องกันการแทรกซึม คุ้มครองเรือประมง ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเล ตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมถึงการถวายความปลอดภัยต่อพระบรมวงศานุวงศ์ โดยลำแรกจะต่อที่ กรมอู่ทหารเรือ
สำหรับพิธีวางกระดูกงูเรือ เป็นพิธีแรกในการสร้างเรือ คำว่า "กระดูกงู" ตามพจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๕ หมายถึง ตัวไม้หรือเหล็กที่ทอดตลอดลำเรือสำหรับตั้งกง ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าพิธีวางกระดูกงูเรือจึงเป็นพิธีที่สำคัญพิธีหนึ่งในการเริ่มสร้างเรือมานับตั้งแต่สมัยโบราณทั้งของไทยและของต่างประเทศ ส่วนพิธีการอาจแตกต่างกันไปบ้างขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละชาติ
พิธีวางกระดูดงูเรือของไทยนั้น คงจะสืบเนื่องมาจากการนับถือเทพธิดา (นางไม้) เพราะในสมัยโบราณถือกันว่าการเข้าป่าตัดไม้ต้องทำพิธีบวงสรวงเทพารักษ์ (พฤกษเทวดา) เสียก่อนจึงจะหาตัวเรือไม้ แม่ยานาง และมาดเรือได้ดี และเป็นไม้ที่นายช่างผู้ชำนาญการต่อเรือได้พิจารณาเลือกคัดเอาแต่ที่อย่างเอก ๆ เป็นไม้ที่ดีที่หนึ่ง เมื่อได้ไม้มาแล้วก่อนจะทำการโกลนและเปิดมาดขึ้นกง ก็ทำพิธีบวงสรวงเชิญเทวพฤกษ์ มาสิงสถิตปกป้องรักษา พิธีนี้ก็เห็นจะเนื่องมาจากพิธีของพราหมณ์ดังกล่าวมาแล้ว
สำหรับราชนาวีไทย คงได้ประกอบพิธีมาตั้งแต่สมัยเรือรบที่สร้างตัวเรือด้วยไม้ ต่อมาได้เปลี่ยน การสร้างจากตัวเรือไม้มาเป็นตัวเรือเหล็ก สำหรับเรือรบที่สร้างด้วยเหล็ก ตามหลักฐาน ได้มีพิธีวางกระดูกงูเรือหลวงสัตหีบเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ โดยกรมอู่ทหารเรือเป็นผู้สร้าง ได้มีพิธีทางศาสนาพุทธ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และมีพิธีพราหมณ์ประกอบการบูชาฤกษ์มี ฯพณฯ จอมพลเรือ ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานประกอบพิธีย้ำหมุด เป็นปฐมฤกษ์ และมี จอมพลเรือ ป.ยุทธศาสตร์โกศล ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นผู้กล่าวเชิญประกอบพิธี
ในปัจจุบันได้กำหนดพิธีวางกระดูกงูของราชนาวีไทย พอสังเขปดังนี้
พิธี ประกอบด้วย การเจิมกระดูกงู คล้องพวงมาลัย แล้วทำพิธีวางกระดูกงู โดยใช้ค้อนตอกย้ำหมุด ตัวแรก หรือกดปุ่มสวิตช์ทำการประสานกระดูกงูด้วยไฟฟ้า
ผู้ประกอบพิธี ในประเทศ อาจเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้แทนต่างประเทศ อาจเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในประเทศนั้น ๆ ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้แทนตามที่กองทัพเรือ จะพิจารณากำหนดพิธี แล้วแต่ฤกษ์
(ที่มา : บันทึก ยก.ทร.ที่ กห ๐๕๐๕/๒๑๓ ลง ๔ ก.พ.๔๘ โทร.๕๔๙๔๕, หนังสือประวัติกองทัพเรือ)--จบ--