กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดตัวโครงการพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสู่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน จัดการประชุมกำหนดแนวทางและความร่วมมือในการพัฒนา และคัดเลือกผู้ประกอบการในจังหวัดเป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ตราด เพชรบุรี สุรินทร์ และ สตูล ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น และการออกแบบร่วมสมัย ณ ห้องประชุมชั้น 3 สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สถาบันได้จัดเปิดตัวโครงการพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสู่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน และหารือแนวทางความร่วมมือ รวมถึงการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการในจังหวัดเป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ แพร่ สุรินทร์ เพชรบุรี ตราด และสตูล ซึ่งโครงการดังกล่าวมุ่งที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยได้เติบโตอย่างเข้มแข็งตั้งแต่ระดับฐานราก และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน โดยการใช้อัตลักษณ์อันโดดเด่นในแต่ละภูมิภาค มาปรับใช้ในการออกแบบเครื่องประดับให้มีความสวยงาม และร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ยกระดับผู้ประกอบการจากการเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต (OEM) สู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีรูปแบบสินค้าของตนเอง (ODM) และผู้ประกอบการที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง (OBM)
สำหรับการพัฒนารูปแบบของเครื่องประดับ สถาบันได้ดึงนักออกแบบชื่อดังมาร่วมค้นหาอัตลักษณ์และสร้างสรรค์ผลงาน จำนวน 5 ท่าน ได้แก่ คุณวไลพรรณ ชูพันธ์ จากแบรนด์ FLOW คุณเอก ทองประเสริฐ จากแบรนด์ EK Thongprasert คุณสุรศักดิ์ มณีเสถียรรัตนา จากแบรนด์ Carletta Jewellery คุณอริสรา แดง-ประไพ จากแบรนด์ Arisara และ คุณจิตต์สิงห์ สมบุญ ซึ่งนักออกแบบแต่ละท่านจะดึงจุดเด่นที่น่าสนใจของแต่ละจังหวัด และเครื่องประดับในท้องถิ่น มาปรับให้ร่วมสมัย สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน และ ยังคงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น อย่างเช่น เครื่องเงินสุรินทร์ หรือ เครื่องทองเพชรบุรี อย่างไรก็ตามเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันได้วางแผนลงพื้นที่และจะคัดเลือกผู้ประกอบการในท้องถิ่นจำนวนหนึ่งที่มีความสนใจ และมีผลงานที่โดดเด่น เข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานและรูปแบบสินค้าและเครื่องประดับให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอีกด้วย โดยมีการจัดอบรมทั้งทางด้านเทคนิคเชิงลึก อาทิ การตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ การออกแบบ รวมทั้งการทำการตลาดอย่างยั่งยืน ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ
นอกจากนี้ สถาบันยังมีโครงการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผลงานการออกแบบเครื่องประดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากจังหวัดข้างต้น โดยมีแผนที่จะปรับโฉมห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ และจัดพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าที่ผ่านการออกแบบในโครงการ ที่เรียกว่า TEMP Pop-Up Store by GIT ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเดือนกันยายนนี้ อีกทั้งจะนำผลิตภัณฑ์การออกแบบมาจัดแสดงภายในงานแสดงสินค้าบางกอกเจมส์แอนด์จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 62 และ September Hong Kong Jewellery and Gems Fair 2018 อีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขยายตลาดสินค้าไทยจากชุมชนสู่ตลาดสากล