กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนงาน/โครงการของกระทรวงฯ รองรับแผนปฏิรูปประเทศระยะ 5 ปี และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เร่งระดมสมองผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ร่วมพิจารณาแผนงานและโครงการสำคัญ ตามแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ระยะ 5 ปี นำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เบื้องต้นจำแนกโครงการสำคัญๆ ของกระทรวงฯ สอดรับ 6 ยุทธศาสตร์ชาติ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ส่วนราชการทุกหน่วยงานพิจารณาจัดทำแผนงานและโครงการ ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกันและจัดลำดับความสำคัญของแผนงานโครงการ กระทรวงดิจิทัลฯ จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนงาน/โครงการของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รองรับแผนปฏิรูปประเทศระยะ 5 ปี และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขึ้น เพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นจัดทำแผนงานและโครงการสำคัญ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และตามที่แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน กำหนดประเด็นไว้ในส่วนที่กระทรวงฯ เกี่ยวข้อง สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเป็นไปตามกฎหมายที่กระทรวงดิจิทัลฯ เกี่ยวข้องกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
สำหรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ มีแผนงานโครงการสำคัญต่างๆ ที่รองรับตามยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้
1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินการพัฒนา ปรับปรุงกฎหมายที่สำคัญในการผลักดันด้านเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงโครงการด้านการจัดหาระบบ วิเคราะห์ข้อมูลด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
2) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งนอกจากการพัฒนาและปรังปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องแล้ว กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ EEC โครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและส่งเสริมการเติบโตของ Digital Startup (NDSP) โครงการจัดตั้งสถาบันไอโอที (IoT Institute) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต โครงการดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce โครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (กิจกรรมการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและปรับปรุงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่เป็นเทคโนโลยีแบบเก่าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยสายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ไปยังโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสุขศาลาพระราชทาน) โครงการจัดทำแผนแม่บทด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ ระยะ 5 ปี โครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Smart City จังหวัดภูเก็ต โครงการพัฒนาศูนย์พัฒนานโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy Policy Unit) นอกจากโครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการแล้ว กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินการต่อยอดการเรียนรู้ให้กับประชาชน อาทิ แผนการสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายและส่งเสริมการใช้งานแก่ประชาชน และโครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (ศูนย์ดิจิทัลชุมชน)
3) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ซึ่งกระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และกำลังคน โดยจะเห็นได้จากโครงการต่างๆ ที่กระทรวงฯ ได้ผลักดัน อาทิ โครงการ Coding Nation และโครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (ศูนย์ดิจิทัลชุมชน) เป็นต้น
4) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมสังคม ได้แก่ โครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (กิจกรรมการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและปรับปรุงโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ที่เป็นเทคโนโลยีแบบเก่าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยสายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ไปยังโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสุขศาลาพระราชทาน) แผนการสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายและส่งเสริมการใช้งานแก่ประชาชน โครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (ศูนย์ดิจิทัลชุมชน) และโครงการสร้างความตระหนักในการใช้อินเทอร์เน็ตให้เสริมสร้างรายได้และรู้เท่าทันภัยคุกคามไซเบอร์ (Internet for Better Life)
5) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงฯ ได้มีโครงการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อเตือนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ รับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น โครงการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อบริหารจัดการน้ำ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งเน้นความเป็นเมืองที่เติบโตอย่างยั่งยืน
และ 6) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับปรุงสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยกระทรวงดิจิทัลฯ พยายามผลักดันนโยบายรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการบริการของภาครัฐนำไปสู่การก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อป้องกันและลดปัญหาการปลอมแปลง หลอกลวง และฉ้อโกง (พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล Digital Identity) โครงการศึกษารูปแบบการบูรณาการข้อมูลสถิติและฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เพื่อการสนับสนุนการตัดสินใจ โครงการจัดทำระบบประมวลผลข้อมูลดิจิทัลอัจฉริยะสำหรับศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัลอัจฉริยะแห่งชาติ ตลอดจนการพัฒนาด้านกฎหมาย
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้แสดงความคิดเห็นและร่วมกันพิจารณาแผนงาน/โครงการสำคัญ ตามแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ระยะ 5 ปี เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ใน 6 ด้าน ของกระทรวงดิจิทัลฯ ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างการทำงานร่วมกันเป็นทีม ก่อให้เกิดการประสานสามัคคีภายในกระทรวงฯ อีกด้วย