กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สสว. ร่วมกับ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม นำเอสเอ็มอีอาหารแปรรูปของไทย 18 รายบุกตลาดไต้หวัน สร้างมูลค่าการค้าได้ราว 205 ล้านบาท จากการแนะนำสินค้าและเจรจาธุรกิจในงาน FOOD TAIPEI 2018 เมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมศึกษาดูงานโรงงานอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และรับฟังการสัมมนาแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและไต้หวันในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ โดย ดร. วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรในการสัมมนาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ให้จัดกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรูปของไทย ให้มีโอกาสลงพื้นที่จริง เรียนรู้พฤติกรรมการบริโภค การเลือกซื้อ และความต้องการจากคนไต้หวัน นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนากลยุทธ์ สร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดขึ้น และต่อยอดธุรกิจในตลาดไต้หวันต่อไป โดยได้นำคณะผู้ประกอบการจำนวน 18 ราย ร่วมจัดแสดงสินค้า ศึกษาดูงาน รับฟังการสัมมนา และเจรจาธุรกิจในงาน FOOD TAIPEI 2018 ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เมื่อเร็วๆ นี้
"โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยจำนวน 18 รายที่เข้าร่วมงาน นำผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ได้รับมาตรฐานการผลิตในระดับสากลไปจัดแสดงและเจรจาธุรกิจเพื่อเปิดตลาดในไต้หวัน อาทิ เนื้อจระเข้ทุบ หมู-เนื้อทุบ และอบแห้ง ชาสมุนไพรออแกนิค ผลไม้อบกรอบ พุดดิ้งมะพร้าวอ่อน มันหวานอบแห้ง ข้าวโพดกระป๋อง กระทิกระป๋อง น้ำอโลเวร่า แมงกะพรุนแปรรูป กุ้งต้มแช่แข็ง ซอสปรุงรสต่างๆ ผลไม้อบแห้งนานาชนิด ไอศกรีมมะม่วง มะม่วง/ทุเรียนอบกรอบดิปน้ำกะทิ หนังไก่ทอดกรอบ บัวลอยเผือก ทับทิมกรอบแช่แข็ง และหนังปลากะพงทอดกรอบ เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้ในผลิตภัณฑ์ และเกิดการเจรจาซื้อขายจำนวน 460 คู่เจรจาจากคู่ค้าหลายประเทศ ประมาณการว่าภายในระยะเวลาหนึ่งปีต่อจากนี้ จะสามารถสร้างมูลค่าการค้ารวมกันได้ราว 205 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ที่มีคำสั่งซื้อสูงสุด ได้แก่ ไอศกรีมมะม่วง ของบริษัท พีพี เอส ฟู้ดส์ โปรดักส์ จำกัด มูลค่า 44 ล้านบาท รองลงมา คือ มะม่วง/ทุเรียนอบกรอบดิปน้ำกะทิ ของบริษัท ไอเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด มูลค่า 27 ล้านบาท แมงกะพรุนแปรรูป และกุ้งต้มแช่แข็ง ของบริษัท โชคดี ซี โปรดักส์ จำกัด มูลค่า 21.4ล้านบาท ผลไม้อบกรอบ ของบริษัท ฉันทพัฒน์ โซลูชั่น พลัส จำกัด มูลค่า 20 ล้านบาท เป็นต้น
นายยงวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะผู้ประกอบการไทยทั้ง 18 ราย ยังได้มีโอกาสศึกษาดูงานที่ บริษัท Namchow Chemical Holdings Co., Ltd ของไต้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 6 ชนิดหลัก ได้แก่ น้ำมัน ผลิตภัณฑ์นม แป้ง ข้าว ผงซักฟอกและเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งร่วมงานสัมมนา "แนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและไต้หวันในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ" ซึ่งมีวิทยากรจากประเทศไทยเข้าร่วมด้วยได้แก่ ดร. วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และนางสาวกฤษณา แซ่เฮ้ง นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยดร.วิเชียร ฤกษ์พัฒนกิจ ที่ปรึกษาสถาบันอาหาร เป็นตัวแทนสถาบันอาหารเข้าร่วมงานในครั้งนี้
งาน FOOD TAIPEI 2018 เป็นงานแสดงสินค้าอาหารที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มีผู้ประกอบการร่วมจัดแสดงสินค้าจำนวน 1,628 ราย จาก 40 ประเทศ และมีผู้เข้าชมงานกว่า 60,000 คน จากทุกทวีปทั่วโลก