กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--มรภ.สงขลา
คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา พัฒนาตลาดนัดชุมชนเชิงวัฒนธรรม ดึงผลิตภัณฑ์จากจำปาดะพืชประจำถิ่นสตูล ออกสู่สายตานักท่องเที่ยว แก้ปัญหาขาดแหล่งจำหน่ายสินค้า พร้อมปลูกสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากร
ดร.รัชชพงษ์ ชัชวาลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการพัฒนาตลาดนัดชุมชนเชิงวัฒนธรรม เพื่อการท่องเที่ยว จ.สตูล ว่า วัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและประเมินศักยภาพของพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการและรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสม สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น โดยทางคณะฯ ร่วมมือกับ จ.สตูล ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งจำหน่ายสินค้าของชุมชนแห่งใหม่ โดยมีเป้าหมายหลักให้ชุมชนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการบริหารจัดการตลาดนัดชุมชน ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่น นำไปสู่การหวงแหนและร่วมกันดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของ มรภ.สงขลา ในการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
ดร.รัชชพงษ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาตลาดนัดชุมชนเชิงวัฒนธรรมฯ มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยในลักษณะสหสาขาวิชา เกิดเครือข่ายด้านการวิจัยที่เข้มแข็ง มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันของนักวิจัยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในด้านต่างๆ ได้แก่ ภูมิสารสนเทศ สังคมศาสตร์เพื่อมัคคุเทศก์ รัฐประศาสนศาสตร์ การพัฒนาชุมชน ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และสามารถนำไปใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัด รวมทั้งการกำหนดนโยบายในระดับต่างๆ ที่สะท้อนศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง
รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวอีกว่า สตูลเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก วิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชนมีความน่าสนใจ มีอาหารการกินและผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลาย ซึ่งผลไม้ประจำถิ่นและมีชื่อเสียงของ จ.สตูล คือ จำปาดะ ทั้งนี้ จากการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาของ มรภ.สงขลา อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากจำปาดะเป็นจำนวนมาก และขยายผลไปสู่ประชาชนในท้องถิ่น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากการประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากจำปาดะคือไม่มีตลาดสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงนำไปสู่แนวคิดจัดตั้งตลาดนัดชุมชนเชิงวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของชุมชน และเป็นการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของสตูล เพื่อช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในท้องถิ่น
"ที่ผ่านมาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งตลาดนัดชุมชนถือเป็นระยะเริ่มต้นของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทย ที่อาศัยกายภาพของพื้นที่ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศเป็นพื้นฐาน ตลาดนัดชุมชนเชิงท่องเที่ยวที่มีสินค้า อาหาร ที่สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่น ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากสินค้าและอาหารประจำท้องถิ่นนั้นมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ สร้างความรู้สึกแปลกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันคนในท้องถิ่นก็มีรายได้จากตลาดนัดชุมชนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี" รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าว