กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ.ผนึกภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐและเอกชนหลากหลายองค์กรเตรียมคลอดต้นแบบการเรียนการสอนเด็กๆ ให้เรียนรู้เรื่องการเอาตัวรอดจากจากเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉิน 7 เรื่อง อาทิ การเอาตัวรอดจากการจมน้ำ ไฟไหม้ การเรียนรู้การทำ CPR การใช้งานเครื่อง AED และการสังเกตอาการหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน หัวใจขาดเลือด รวมถึงการฝึกการขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 เชื่อจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตให้เด็กจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้
เหตุการณ์ที่นักฟุตบอลและโค้ช ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย กว่า 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอนจังหวัดเชียงรายทำให้เรื่องการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติสำหรับเด็กๆและเยาวชนได้กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีการพูดถึงกันในสังคมตอนนี้ ล่าสุด นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ออกมากล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เรื่องการสอนให้เด็กๆ ของเราเตรียมการรับมือกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินต่าง ๆ รวมถึงการสอนให้เขารู้ถึงวิธีในการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นที่เราควรมีการบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ชัดเจนเพราะเราไม่สามารถรู้เลยว่าเด็กๆ ของเราจะพบเจอกับเหตุการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ทางภัยพิบัติที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้เคยจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากหลากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิต่างๆ รวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลหลากหลายองค์กรรวมถึงกระทรวงศึกษาธิการเพื่อช่วยกันสร้างร่างหลักสูตรการการเรียนการสอนเด็กๆให้รู้จักการเอาตัวรอดจากเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งหลังจากที่เราระดมความคิดเห็นผ่านการทำ work shop กับหลากหลายหน่วยงานพวกเราก็ได้คลอดร่างคู่มือต้นแบบออกมา 7 เรื่องเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาและวิธีปฏิบัติจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินและภัยพิบัติต่างๆ
รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า ซึ่งเจ็ดหลักสูตร 7 เรื่องประกอบด้วย
1. การเรียนรู้การเอาตัวรอดจากจากการเดินเท้าทั้งบนฟุตบาธ ทางเดิน หรือแม้กระทั่งการข้ามถนน ซึ่งเด็ก ๆจะต้องเรียนรู้เรื่องราวของการเดินเท้าหรือข้ามถนนอย่างปลอดภัยเพื่อให้ตนเองปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนนั้นจะเหมาะสมหรับเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นไป นอกจากนี้ยังจะมีแนวทางในการขับขี่รถอย่างปลอดภัยที่จะใช้สอนเด็กในวัยมัธยมอีกด้วย ส่วนเรื่องที่
2. คือหลักสูตรที่จะให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และรับมือกับโรคจิตเวชซึ่งก็คือการเตรียมการรับมือกับเรื่องของภาวะซึมเศร้าและภาวะเครียดที่เราจะพบเห็นเด็กๆ เครียดซึมเศร้าและฆ่าตัวตายเยอะ ดังนั้นเด็กๆ ควรได้เรียนรู้วิธีในการสังเกตตนเองเฝ้าระวังตนเองและหากทางออกให้กับตนเองในอาการเหล่านี้ได้ ถ้าเข้าได้เรียนรู้ผ่านหลักสูตรของเรา
3.หลักสูตรเรื่องการเตรียมพร้อมในการรับมือกับภาวะโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ซึ่งเด็กๆ ของเราจะต้องเรียนรู้อาการเบื้องต้นของโรคว่าโรคหลอดเลือดสมองอาการที่ทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินเช่นปากเบี้ยวแขนขาอ่อนแรงเขาจะต้องช่วยเหลือตนเองอย่างไร หรือช่วยเหลือคนที่มีอาการเหล่านี้ได้อย่างไรและเขาควรได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์กี่ชั่วโมงเด็กๆ ต้องรู้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ในบทเรียนนี้ บทเรียนที่
4.คือการเรียนรู้อาการของโรคภาวะหัวใจขาดเลือดซึ่งในบทเรียนก็สอนให้เด็กๆ สังเกตอาการของผู้ที่เป็นโรคนี้เช่นหากเด็กๆเจ็บหน้าอกใจสั่นเหมือนจะเป็นลมเขาจะต้องรู้ว่าอาการเหล่านี้เข้าข่ายโรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ก็เขาจะเรียกคนให้มาช่วยได้อย่างไร และเด็กเขาจะได้เรียนรู้เรื่องการแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 ด้วย
5. เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินจากเหตุอัคคีภัยและเหตุอุทกภัยในทุกๆ กรณีด้วยเหตุอัคคีภัยก็คือเด็กๆ สามารถที่จะเรียนรู้การเอาตัวรอดจากการเหตุการณ์ไฟไหม้ต่างๆ ได้ และในส่วนของอุทกภัยก็คือเด็กๆ จะต้องเอาตัวรอดจากการจมน้ำในทุกๆ กรณีให้ได้ เขาจะต้องเรียนรู้หลักการในการช่วยเหลือคนที่ถูกต้องเช่นการตะโกนโยนยื่น และเขาจะต้องฝึกลอยตัวในน้ำเพื่อรอความช่วยเหลือได้หากเขาตกน้ำหรือจมน้ำ โดยหลักสูตรที่เรารวมกันออกแบบทุกอันจะสอนให้เด็กๆ เอาตัวรอดจากเหตุการณ์เหล่านี้และแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 เป็นได้
6. หลักสูตรเรื่องการเรียนการสอบเกี่ยวกับการทำ CPR หรือการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นต้น เด็กๆจะต้องเรียนรู้วิธีในการทำ CPR ให้เป็นทุกคน และเขาสามารถที่จะช่วยผู้อื่นด้วยการทำ CPR ได้
และ 7 .หลักสูตรเรื่องการเรียนรู้การใช้งานเครื่องAED เบื้องต้น ซึ่งเด็กๆ ทุกคนจะต้องเรียนรู้เรื่องการใช้งานเครื่อง AED ให้เป็น นี่คือสิ่งที่เรากำลังพยายามผลักดันกับหลายหน่วยงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้เนื้อหาทั้งหมดเราทำเกือบเสร็จแล้วเหลือแค่การออกแบบสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กๆ ในแต่ละวัยและแต่ละชั้นเรียนเท่านั้นเอง
นพ.ไพโรจน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนเรื่องของการท่องเที่ยวในแถบภูเขา ทะเล หรือป่าอุทยานจะต้องจัดให้มีองค์ความรู้เช่นกัน เพราะโดยส่วนตัวของนักเรียนเองหรือประชาชนที่จะเข้าไปในพื้นที่ก็ไม่สามารถคาดคิดได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ดังนั้นการสอนให้เขามีเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นสิ่งจำเป็นในแต่ละสถานการณ์ต่างๆ การเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ต้องเรียนรู้และปฏิบัติตัวทั้งการป้องกันและแก้ไขเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ตั้งแต่ในโอกาสแรก เช่นหากเด็กๆ ไปท่องเที่ยวทางน้ำเด็กๆ ก็ต้องรู้วิธีสวมเสื้อชูชีพ ต้องรู้คุณสมบัติของชุดชูชีพว่ามันช่วยเขาได้อย่างไร และในส่วนของการปีนเขาหรือการไปเที่ยวถ้ำ เด็กๆ จะต้องรู้ว่าสามสิ่งที่จำเป็นมากคือ เรื่องของไฟฉายที่ให้แสง นกหวีดที่ทำให้เกิดเสียงได้ และอีกอย่างหนึ่งก็คือเชือกและการใช้เชือกก็จะมีความสำคัญที่จะช่วยเหลือเขาได้ในหลายลักษณะ
"เมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ในบทเรียน เด็กๆ ก็จะมีความรู้และจะสามารถเตรียมวางแผนการเดินทางของเขาเอง และจะเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินจนสามารถช่วยเหลือตนเองและคนอื่นได้ที่สำคัญที่สุดคือเด็ก ๆจะได้เรียนรู้เรื่องการขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 ได้อีกด้วยนั่นเอง" รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าว