กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--สช.
เผยผลการวิจัยการตลาดสารเคมีเกษตรในประเทศไทย พบบริษัทจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชงัด 16 กลยุทธ์ กระตุ้นการใช้สารเคมีอาศัยช่องโหว่ไม่มีกฎหมายควบคุม นักวิชาการหวั่นให้ข้อมูลบิดเบือน ไม่ครบถ้วน ส่งผลเกษตรกรตายผ่อนส่ง
ผลการศึกษาวิธีการส่งเสริมการขายสารเคมีเกษตรให้แก่เกษตรกรในระดับไร่นา ของนายพัฒนพงศ์ จาติเกตุ นักวิจัยอิสระที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขสนับสนุน พบว่าบริษัทที่ทำการตลาดส่วนใหญ่ มักจะมาจากบริษัทข้ามชาติ และบริษัทไทยขนาดกลาง โดยอาศัยช่องโหว่ที่ยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายที่ชัดเจน โดยใช้กลยุทธ์การตลาด 16 วิธี เพื่อกระตุ้นยอดขายได้แก่ 1.การจับรางวัล ชิงโชค 2.การสัมมนาและจัดเลี้ยง 3.การจัดเลี้ยงโต๊ะจีน 4.การขายพ่วงกับเมล็ดพันธุ์ 5.การจัดแปลงสาธิตในพื้นที่เพาะปลูก 6.การจัดแนะนำสินค้าในชุมชน 7.การให้ของแจกของแถม 8.การให้โบนัสหรือรางวัล 9.การลดราคา 10.การให้ค่านายหน้าแก่ร้านค้าหรือสหกรณ์ 11.การให้เครดิตหรือการจ่ายเงินเชื่อ 12.การจัดอบรมเกษตรกร 13.การทำยอดสะสมการใช้สารเคมีเพื่อแลกของรางวัลต่างๆ 14.มีสิ่งตอบแทนเมื่อลูกค้านำเงินมาชำระ 15.การโฆษณาผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งวิทยุ นิตยสารทางการเกษตร แผ่นพับ ใบปลิว รถแห่ ฯลฯ 16.การจัดแสดงสินค้าหน้าร้าน หรือการโฆษณา ณ จุดขาย
นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้ชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) กล่าวว่า สารเคมีเหล่านี้ ถือเป็นวัตถุอันตราย การปล่อยให้ทำการตลาดโดยปราศจากการควบคุม และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องถือเป็นผลร้ายต่อสังคมโดยรวม ทั้งเกษตรกรผู้ใช้ที่ต้องตายผ่อนส่งจากการใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็นและใช้ผิดวิธี รวมทั้งคนไทยที่ต้องบริโภคสารปนเปื้อน
มีกรณีตัวอย่างที่เครือข่ายเกษตรกรเล่าให้ฟังว่า “จากความไม่รู้และเข้าใจผิดของเกษตรกร พบว่าในบางพื้นที่เกษตรกรเอายาฆ่าหญ้ามาผสมกับน้ำยาปรับผ้านุ่มเพื่อให้มีกลิ่นหอมแล้วฉีดพ่น ซึ่งปริมาณสารพิษไม่ได้ลดน้อยลงเลย ถือเป็นหอมมรณะ สำหรับเกษตรกรไทย”
ทั้งนี้ปัจจุบันการควบคุมตลาดสารเคมีมีเพียงบทบัญญัติใน มาตรา 51 พ.ร.บ.ควบคุมวัตถุอันตราย 2535 เท่านั้น โดยระบุว่า “การควบคุมการโฆษณาวัตถุอันตรายให้เป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมการโฆษณาให้ถือว่าวัตถุอันตรายที่มีการกำหนดฉลากตามมาตรา 20 (1) เป็นสินค้าที่มีการควบคุมฉลากโดยกรรมการควบคุมฉลากตามกฏหมายดังกล่าวโดยอนุโลม” โดยไม่มีข้อบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรง และในทางปฏิบัติแล้วยังไม่เคยมีผลการบังคับใช้ให้เห็น เพราะความไม่ชัดเจนในการใช้กฎหมาย ตลอดจนปัญหาจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ และขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสารเคมีอย่างแท้จริงของเจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)
ขณะนี้ การพิจารณาทบทวน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกำลังเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. โดยคาดว่ามาตรา 51 ซึ่งว่าด้วยการควบคุมการโฆษณาวัตถุอันตรายจะเป็นมาตราหนึ่งที่ สช.จะผลักดันให้มีการแก้ไข เพื่อประโยชน์ของเกษตร
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ชั้น 2 อาคารด้านทิศเหนือสวนสุขภาพ(ถนนสาธารณสุข 6) ภายในกระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
ภรนภา เหมปาละ(หนิง)
โทร. 0 2590 2304 โทรสาร 0 2590 2311 www.nationalhealth.or.th