กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--สกว.
โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
จังหวัดชัยนาท เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางที่มีความอุดมสมบูรณ์ แม้จะเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกข้าวแห่งหนึ่งของไทย คนส่วนใหญ่นิยมทำนาและเกษตรกรรม แต่ยังมีพื้นที่กว่าร้อยละ30 ของจังหวัดที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำ โดยเฉพาะอำเภอหนองมะโมง เป็นอำเภอเล็กๆ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุดของจังหวัดชัยนาท มีพื้นที่ปกครอง 4 ตำบล 41 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลหนองมะโมง , ตำบลวังตะเคียน , ตำบลสะพานหิน และตำบลบ้านกุดจอก มีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 19,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและพืชไร่ ประสบภัยธรรมชาติทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำและอุทกภัย เวลาแล้งก็แล้งจัด เวลาน้ำท่วมก็ท่วมหนัก ด้วยสภาพพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการเก็บกักน้ำไว้เพื่อใช้ในภาคการเกษตรเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆได้ ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก จนได้รับฉายาว่า "อีสานของภาคกลาง"
"อำเภอหนองมะโมง เวลาแล้งก็แล้งจัด ไม่มีน้ำเลยสักหยด เวลาท่วมก็ท่วมจนจมมิด เพราะความลาดชันของพื้นที่ทำให้เมื่อน้ำเหนือไหล่บ่าลงมาจากจังหวัดอุทัยธานีทางวังตะเคียนมีความรุนแรงและไหลผ่านลงสู่อำเภอวัดสิงห์อย่างรวดเร็ว เพราะในพื้นที่ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำหรือแก้มลิง จนได้รับฉายาว่า "ดินแดนอีสานแห่งภาคกลาง" แต่ปัจจุบันเริ่มมีหน่วยงานองค์กรต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่เรียกว่า สระเก็บน้ำ 400 ไร่ และแนวคิดการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในฐานะพื้นที่นำร่องหรือหนองมะโมงโมเดล" นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหนองมะโมง กล่าว
จากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก จึงได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนทั้งระบบของรัฐบาล โดยจังหวัดชัยนาทได้จัดทำแผนพัฒนาแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอำเภอหนองมะโมงแบบบูรณาการของจังหวัดชัยนาทขึ้น ทางภาคเอกชนโดยสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนวังขนาย จำกัดได้บริจาคพื้นที่จำนวน 515 ไร่ ให้กับทางอำเภอเพื่อใช้สร้างแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่อำเภอหนองมะโมง เทศบาลตำบลหนองมะโมงจึงได้ขออนุมัติโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสระเก็บน้ำโดยขอรับการสนับสนุนผ่านกระทรวงมหาดไทย และมติครม.7ก.ค.2558 ได้อนุมัติในหลักการแผนงานดังกล่าว โดยกรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินการ ร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น กรมการทหารช่าง กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลหนองมะโมง ในลักษณะของโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่อำเภอหนองมะโมง แบบบูรณาการ เช่น การขุดสระเก็บน้ำ 400 ไร่ และสระอื่นๆอีกหลายแห่ง พร้อมการปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำห้วยคต-วังหมัน เพื่อใช้เป็นแหล่งรองรับน้ำหลากในฤดูฝนลดปัญหาน้ำท่วม และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สามารถจุน้ำได้ถึง 3.19 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ปี 2558 - ปัจจุบัน ทำให้วันนี้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอหนองมะโมงเริ่มคลี่คลาย แต่ยังขาดการกระจายน้ำ ที่จะนำน้ำในแหล่งน้ำที่มีอยู่ออกไปให้ประชาชนได้ใช้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง พื้นที่จึงมีแนวคิดในการจัดทำระบบสระพวงและนำพื้นที่รอบสระเก็บน้ำมาใช้ทำศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ได้นำไปต่อยอดประกอบอาชีพได้
นายพลกฤต กล่าวว่า " ปัจจุบันสระเก็บน้ำ 400 ไร่สามารถกักเก็บน้ำได้แล้วกว่าร้อยละ 80 ของความจุ มีชุมชนได้รับประโยชน์แล้ว 6 หมู่บ้านได้อุปโภคบริโภคมีน้ำประปาใช้ แต่ยังอีกหลายพื้นที่ที่น้ำยังไปไม่ถึง ซึ่งท้องถิ่นเองมีแนวคิดในการทำระบบสระพวงสำหรับรับน้ำที่ล้นจากสระใหญ่สู่สระขนาดกลางและสระขนาดเล็กต่างๆ เพื่อกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรให้ได้มากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ตอนล่าง และแนวคิดที่จะนำพื้นที่รอบสระ 400 ไร่ที่เหลือมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร เช่น การจัดทำศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร แปลงสาธิตการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และสวนสมุนไพร จึงต้องมีการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อของบประมาณเข้ามาดำเนินการ แต่ขาดข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการสนับสนุนโครงการ"
โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศสนับสนุนการวางแผนจัดทำงบประมาณด้านทรัยพากรน้ำและเกษตร สำหรับจังหวัดชัยนาท ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีนักวิจัยจากสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เข้ามาศึกษาวิจัยเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการพัฒนาโครงการด้านน้ำและการเกษตรแบบบูรณาการ
รศ.ดร.สมบัติ ชื่นชูกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำ-ชลประทาน ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานในจังหวัดผ่านคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ แต่การเสนอของบประมาณระดับท้องถิ่นยังจำเป็นต้องเชื่อมโยงกลับไปที่หน่วยงานต้นสังกัดตามรูปแบบของระบบเดิม ทำให้โครงการไม่สามารถเกิดได้ในคราวเดียวกันและขาดความต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาจังหวัดให้เกิดประสิทธิภาพเชื่อมโยงข้อต่อที่ยังขาด และเพื่อให้เกิดแผนพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในระดับต่างๆ ในการดำเนินการจัดทำแผนงบประมาณระดับท้องถิ่น สำหรับใช้ดำเนินการแก้ไขเรื่องน้ำและการเกษตรในพื้นที่อำเภอหนองมะโมงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องใช้ระบบสารสนเทศเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำและการเกษตร ถือเป็นการสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
จากการศึกษาพบว่า สาเหตุที่บางโครงการ เช่น โครงการทำพืชสมุนไพรเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศตามที่เทศบาลตำบลหนองมะโมงทำแผนของบประมาณจากทางจังหวัดเพื่อมาดำเนินการแต่ไม่ผ่านการพิจารณา ทำให้ท้องถิ่นเสียโอกาสไปอันเนื่องมาจากข้อมูลที่จะมาสนับสนุนมีไม่เพียงพอ ฯลฯ ทางคณะวิจัยจึงได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา แนะนำวิธีการเขียนและกระบวนการจัดทำแผนงบประมาณหรือโครงการ นอกจากนี้ยังได้จัดทำคู่มือการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดด้านทรัพยากรน้ำและการเกษตรจังหวัดชัยนาท สำหรับเป็นแนวทางการทำงานขององค์กรขับเคลื่อนและการนำเสนอโครงการงบบูรณาการ , คู่มือการปลูกพืชไร่และสมุนไพรทดแทนข้าวบริเวณสระเก็บน้ำ 400 ไร่ , คู่มือการบริหารจัดการน้ำระบบส่งน้ำคลองห้วยคต - วังหมันและสระเก็บน้ำหนองมะโมง , คู่มือที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในระบบชลประทาน ให้กับท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
รศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า "การแก้ปัญหาเรื่องน้ำและการเกษตรส่วนใหญ่มักมีเป้าหมายเดียวกัน เวลาแก้จะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้การแก้ปัญหาเดียวกันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เชื่อมโยงยุทธศาสตร์รัฐ กระทรวง จังหวัด และพื้นที่ นอกจากปัญหาข้อมูลกลางที่ไม่เพียงพอ และขาดการเชื่อมโยงแล้ว การทำโครงการใดๆจะต้องรับฟังปัญหาและความต้องการจากระดับล่างขึ้นมาจัดเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง และการประชุมระดับท้องถิ่นจำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหา เพราะเมื่อต้องการแก้ปัญหาเดียวกันก็ต้องแก้ไปทิศทางเดียวกัน ก็จะช่วยลดความซ้ำซ้อนในขั้นตอนของการจัดทำแผนงาน/โครงการลงได้ จึงต้องเริ่มจากการบูรณาการด้านข้อมูล ซึ่งปัจจุบันฐานข้อมูลน้ำและเกษตรของศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชัยนาทยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ แต่หากในระดับท้องถิ่นได้มีฐานข้อมูลใช้ในเบื้องต้น เช่น ข้อมูลเส้นทางน้ำ ศักยภาพน้ำบาดาล ชนิดดิน/การใช้ประโยชน์ในที่ดิน สมุนไพรหรือพืชที่ใช้น้ำน้อย ฯลฯ ก็จะสามารถนำไปใช้สนับสนุนการเขียนแผนฯ ซึ่งงานวิจัยได้เข้ามามีบทบาทช่วยเติมเต็มตรงนี้"
นายอำเภอหนองมะโมง กล่าวอีกว่า "การที่นักวิจัย สกว.เข้ามาช่วยครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นภาพรวมปัญหาของการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นทำไมบางโครงการถึงไม่ผ่าน และยังชี้ให้เห็นว่าปัญหาการทำงานโดยไม่มีฐานข้อมูลเป็นอย่างไร เราควรจะมีฐานข้อมูลแบบไหนไว้ทำงาน และส่วนราชการต่างๆ ควรจะบูรณาการกันโดยใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน แผนถึงจะออกมาเหมือนกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จากเดิมที่ใช้ข้อมูลแยกส่วนกัน เพราะไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลกลาง ซึ่งก็จะได้นำแนวคิดและข้อแนะนำมาต่อยอดประยุกต์ใช้ ทั้งนี้ ยอมรับว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการสำรวจ
ศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ และมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะเรื่องฐานข้อมูลเข้ามาใช้ รวมถึงความพยายามของนักวิจัยในการชี้เป้าสำหรับการจัดทำแผนงานต่างๆ เพื่อให้ได้รับการพิจารณางบประมาณในการพัฒนาโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นก้าวแรกที่ทำให้หน่วยงานระดับจังหวัดเห็นคุณค่าของการบูรณาการแผนข้อมูลต่างๆ ที่จะนำไปสู่การจัดทำแผนให้ประสบความสำเร็จในครั้งต่อไป "