กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--มีเดีย พลัส คอนเนคชั่น
มะเร็งเป็นโรคภัยใกล้ตัว ที่ใครก็ไม่อยากเข้าใกล้ นับเป็นโรคร้ายอันดับหนึ่งที่คุกคามชีวิต ของคนไทย เมื่อรับรู้ว่าป่วยด้วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยมักมีความกังวลใจ หดหู่ หรืออาจเกิด ภาวะซึมเศร้า แต่ขึ้นชื่อว่า "โรค" ก็ต้องมีทางดูแลรักษาและป้องกัน
ดังนั้นในการเสวนา "สู้มะเร็งอย่างไร...ให้ใจเป็นสุข" โรงพยาบาลพญาไท 2 จึงได้นำแนวคิด "เราเป็นทีมเดียวกัน" มาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง เพราะตระหนักดีว่าการดูแลจิตใจของผู้ป่วย เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของทีมแพทย์และพยาบาล ประกอบกับ นวัตกรรมและเทคโนโลยีก้าวหน้าในการรักษาให้ ตรงจุด เพื่อหยุดโรคมะเร็ง
นายแพทย์ ประสาร ขจรรัตนเดช อายุรแพทย์ เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวถึงการรักษาโรคมะเร็งแบบตรงจุด หรือทาร์เก็ตเต็ด เทอราพี" (Targeted Therapy) ว่า "เป็นแนวทาง ในการลดผลกระทบข้างเคียง เมื่อใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ แบบเต็มที่ จะช่วยยืดอายุผู้ป่วยในกลุ่มผู้ป่วย มะเร็งระยะสุดท้าย หรือเพิ่มโอกาสในการหายสูงขึ้น ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะแรก"
การรักษาด้วยวิธี Targeted Therapy มีการพัฒนามากว่า 16-17 ปี โดยจะมีกระบวนการ อย่างหนึ่งที่เรียกว่า Precision Medicine ซึ่งจะเป็นการนำตัวอย่างเซลล์มะเร็งของคนไข้หลาย ๆ คนมาวิเคราะห์ โมเลกุล โปรตีน และลักษณะความผิดปกติของยีน เพื่อออกแบบตัวยาที่เข้ากับคนไข้ได้ ซึ่งจากวันนั้นจน ปัจจุบันนี้มีตัวยาเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ยังไม่ถึงกับใช้รักษาในมะเร็ง ได้ทุกชนิด แต่เป็นวิธีการที่ตอบสนอง ต่อโรคได้ครอบคลุมมากขึ้น และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว
กระบวนการรักษานี้จะเข้าไปตรงจุดหยุดมะเร็งที่เซลตั้งต้น ตั้งแต่หยุดกระบวนการแบ่งตัวของ เซลมะเร็ง หยุดการเคลื่อนที่ ลุกลาม ทำให้เซลมะเร็งตาย และทำให้เซลมะเร็งไม่สนองสิ่งกระตุ้นอีกต่อไป อย่างไรก็ตามการรักษาด้วย Targeted Therapy เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งอาจจะเกิดการดื้อยา เช่น ยาบางตัว อาจจะให้ ผลการรักษาที่ดี แต่พอผ่านมาประมาณปีนึงก็เกิดการดื้อยา ทีมแพทย์ก็ ต้องวินิจฉัยต่อเนื่อง ตัดชิ้นเนื้อ มา ตรวจใหม่ เพื่อมองหา Targeted Therapy ตัวใหม่
"ถ้าหาไม่ได้ ก็ต้องกลับไป ที่วิธีเดิม คือ คีโม หมอมักจะบอกคนไข้เสมอว่าอย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ ของหมออย่างเดียว เราจะร่วมสู้ ร่วมวางแผนการรักษาไปด้วยกันเพราะหมอเป็นทีมของคนไข้" นพ.ประสาร กล่าวเสริม
"ในระหว่างการรักษานั้นปัจจัยสำคัญมากคือกำลังใจ การคิดบวก ที่ช่วยจะเพิ่มประสิทธิภาพและ ผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา ดังนั้นการดูแลผู้ป่วย โดยใช้ "ใจ" ในการสร้างความเชื่อมั่นว่าเราจะเป็น "ทีมเดียวกัน" เป็นเรื่องที่เราต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง" นางฐิติพร ฉิมม่วง ผู้จัดการแผนกผู้ป่วยนอกมะเร็งและเคมีบำบัด รพ.พญาไท 2 กล่าว พร้อมเสริมว่า เราบอกผู้ป่วย และญาติเสมอว่าบางครั้งเราท้อแท้ได้ เพราะมันเป็นเรื่องความเจ็บป่วย ที่เสี่ยงถึงชีวิต แต่เราต้อง พยายามดึงจิตใจของเราขึ้น พยายามมองบวกให้มาก ๆ โลกนี้ยังมีสิ่งสวยงามให้เราดู ให้เราทำอีก มากมาย"
จากประสบการณ์การเป็นพยาบาลศูนย์มะเร็งมานานกว่า 20 ปี ด้วยการใช้ใจดูแลผู้ป่วยมะเร็ง นางฐิติพร จึงได้คิดนวัตกรรมง่าย ๆ คือน้ำแข็งบ๊วย เพื่อช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงหลังได้รับยาเคมีบำบัด ทำให้คนไข้ได้เติมน้ำเข้าสู่ร่างกาย ลดอาการคลื่นไส้และรู้สึกชุ่มคอขึ้น
"ในการตรวจ วินิจฉัย วิเคราะห์ โรคมะเร็ง จำต้องใช้ความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์สหสาขา ถ้ามีอาการผิดปกติ เจ็บป่วยเรื้อรังควรมาพบหมอเพื่อหา สาเหตุของโรค แต่ถ้าหากไม่พบหมออาจตั้งสมมติฐานว่าเป็นมะเร็ง และเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรอง มะเร็ง ถ้าตรวจพบโรคได้ไว และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โรคนี้ก็มีโอกาสหายขาดได้"
"อย่าปล่อยให้อาการของโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดความกังวลใจ ควรรีบมาปรึกษา เพราะหมอ พร้อมเป็นทีมเดียวกับคนไข้ แต่ถ้าไม่อยากป่วยก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพ ลดพฤติกรรมเสี่ยงของการเกิดโรค ต่าง ๆ เพราะหมอไม่อยากให้ใครป่วยมาโรงพยาบาล" นายแพทย์ประสาร สรุป