กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--ไทยออยล์
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2561
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 68 - 73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 72 - 77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (16 – 20 ก.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง หลังสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีนที่มีมูลค่าราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการกลับมาของท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ Zueitina และ Hariga ที่ลิเบีย รวมถึง กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปกและรัสเซียที่คาดจะปรับเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบีย ได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเพื่อรองรับกำลังการผลิตที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากประเทศเวเนซุเอลาและอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์นี้มีแนวโน้มที่จะปรับลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ที่แคนาดายังคงปิดซ่อมบำรุงอยู่ และคาดจะกลับมาดำเนินการในระดับเดิมอีกครั้งภายในเดือน ก.ย. 61
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- แรงกดดันในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นและมีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน หลังนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรวมมูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งคาดจะมีผลบังคับใช้ปลายเดือนสิงหาคมนี้ ล่าสุดทางจีนออกมาตอบโต้ว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่จีนรับไม่ได้และเตรียมออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ในเร็วนี้ โดยก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้มีการเก็บภาษีสินค้าไม่ว่าจะเป็นเหล็กและอลูมิเนียม รวมไปถึงสินค้าไฮเทคมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม และทางจีนได้มีการตอบโต้โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯกว่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียคาดจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ Zueitina และ Hariga ได้กลับมาทำการตามปกติอีกครั้ง หลังได้มีการประกาศเหตุสุดวิสัยในวันที่ 14 มิ.ย. 61 จากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มติดอาวุธและกองกำลังทหารในกองทัพแห่งชาติของลิเบีย ซึ่งการกลับมาของท่าเรือส่งออกน้ำมัน Zueitina และ Hariga ทำให้กำลังการส่งออกน้ำมันดิบจากลิเบียกลับมาที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน อีกครั้ง จากเดิมที่หายไปกว่า 800,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ท่าเรือส่งออกน้ำมัน Ras Lanuf และ Es Sider ได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก จึงต้องมีการปิดซ่อมบำรุงไปอีกระยะหนึ่ง
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากโอเปกและนอกโอเปกคาดจะปรับเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มผู้ผลิตตกลงที่เพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือน ก.ค. 61 เป็นต้นไป เพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากอิหร่านและเวเนซุเอลา ล่าสุดซาอุดิอาระเบียได้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. ขึ้นกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้าและมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นหากภาวะอุปทานน้ำมันดิบยังคงตึงตัวต่อเนื่อง ขณะที่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เผยว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวันขึ้นไปสู่ระดับ 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นปี 61 และรัสเซียก็ได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตไปเหนือระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- รายงานล่าสุดจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) คงการคาดการณ์ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในปี 2561 ที่ 10.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยการผลิตของเดือน ม.ค. 61 ที่ผ่านมากว่า 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ EIA ยังได้ยกระดับปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ในปี 2562 สู่ระดับ 11.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นกว่า 40,000 บาร์เรลต่อวันจากการคาดการณ์ในเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดกลับมากังวลในเรื่องของอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ อีกครั้ง รวมถึง ปริมาณแท่นขุดเจาะที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดของปีนี้อีกครั้ง
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง จากการที่ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดาที่มีทิศทางปรับลดลง จากการปิดดำเนินการของแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ซึ่งมีกำลังการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน โดยคาดจะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติอย่างเร็วที่สุดในเดือน ก.ย. ซึ่งช้ากว่ากำหนดการเดิมที่วางไว้ในเดือน ก.ค. 61 ส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากแคนาดาคาดจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ค. ปรับลดลง 12.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.5 ล้านบาร์เรล
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ GDP ไตรมาส 2 ของจีน ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 – 13 ก.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 2.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 71.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและรัสเซียที่ราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้ปะทุอีกครั้ง หลังสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีนอีกครั้ง ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลว่าอุปสงค์น้ำมันดิบอาจปรับตัวลดลงในอนาคต จึงมีการเทขายทำกำไร