กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค
"น้องๆ มักจะพูดว่าวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ไม่สนุกและยาก เมื่อเรียนไม่เข้าใจก็รู้สึกเบื่อและพาลไม่ชอบทั้งสองวิชานี้ไป แต่หนูมองว่าจริงๆ แล้ว หากปรับวิธีให้น้องๆ ได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง น้องๆ ก็จะสนุกและมองว่าวิชานี้ไม่ยากอีกต่อไป"
เสียงสะท้อนจากน้องบุตร - น.ส.บุตรจรี มาสุข นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนความคิดของเธอเกี่ยวกับการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่เปรียบเสมือน "ยาขม" สำหรับหลายๆ คน ผ่านประสบการณ์ทั้งในฐานะนักเรียนและผู้ที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ทั้งยังแบ่งเวลาในช่วงปิดเทอมมารับตำแหน่งประธานโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ "รากแก้ว" ครั้งที่ 30 เพื่อร่วม เพื่อให้ความรู้วิชาการและตอบคำถามที่น้องๆ สงสัยเกี่ยวกับการเรียนในมหาวิทยาลัยไปจนถึงการประกอบอาชีพหลังเรียนจบ เพื่อแนะแนวทางและสร้างแรงบันดาลใจแก่น้องๆ
ค่ายรากแก้ว จัดโดยองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยการสนับสนุนของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีเป้าหมายหลักคือเสริมทักษะและความรู้ของน้องในการเรียนวิชาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม (STEM) เกิดความสนใจที่จะศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสาขานี้ต่อไปในอนาคต ค่ายรากแก้วจัดขึ้นเป็นปีที่ 23 ติดต่อกัน และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 30 ซี่งจัดขึ้น ณ โรงเรียนบ้านลาดวิทยา จังหวัดเพชรบุรี โดยมีน้องๆ ระดับมัธยมปลายเข้าร่วม 145 คน
ตลอดระยะเวลา 8 วัน ของค่ายรากแก้ว ครั้งที่ 30 กลุ่มนิสิตพี่เลี้ยง 60 คน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอื่นๆ จากคณะในสาขาวิทยาศาสตร์ ทั้ง สัตวแพทย์ ทันตแพทยศาสตร์ จิตวิทยา เภสัชศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ครุศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสหเวชศาสตร์ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่น้องๆ มัธยมศึกษาปีที่ 5 และปีที่ 6 จากโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรี ทั้งหมด 145 คน ทั้งในการเรียนรู้ภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมไปถึงการทำกิจกรรมสันทนาการเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการอยู่ร่วมกันในค่าย อาทิ เช่น 'ห้องปฏิบัติการ' เน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับด้านฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ '5 ฐานมหัศจรรย์'กิจกรรมเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นการลงมือปฏิบัติและเชื่อมโยงเนื้อหาในวิชาต่างๆ เข้ากับปรากฎการณ์ในชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ทักษะภาษาอังกฤษ ไปจนถึงกิจกรรมสันทนาการที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์และสอดแทรกความรู้ เช่น กีฬาสีรากแก้ว กิจกรรมดาราศาสตร์ และกิจกรรมตลาดนัดคณะเพื่อแนะแนวการศึกษาต่อ เป็นต้น
น้องพิม - น.ส. สุธิดา ศรนารายณ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนบ้านแหลมวิทยา จังหวัดเพชรบุรี บอกถึงสิ่งที่ได้รับจากค่ายเยาวชนนี้ว่า "ตอนนั้นหนูเรียนอยู่ชั้น ม.5 กำลังจะขึ้น ม.6 กำลังค้นหาตัวเองว่าอยากเรียนคณะอะไร ตอนนั้นหนูมีความคิดอยากเรียนวิศวะค่ะ พอดีกับมีรุ่นพี่มาแนะนำให้ลองไปค่ายนี้ดู เพราะมีพี่มาจากหลากหลายคณะมาแนะนแวให้เรา ก็เลยอยากมาลองเข้าค่ายนี้ค่ะ โรงเรียนของหนูเป็นโรงเรียนเล็กๆ ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำแล็บ แต่พอได้ไปค่ายนี้ เขามีแล็บของแต่ละวิชา ก็เลยรู้สึกชอบเพราะตอนอยู่โรงเรียนไม่ค่อยได้ทำ แรกๆ ที่เข้าค่ายก็ยังปรับตัวไม่ค่อยได้ แต่พี่ๆ เขาสอนสนุกและมีแนวทางสอนให้เราสนุกได้ ตลอดเวลาแปดวันเจ็ดคืนในค่าย แต่ละวันใช้เวลาเรียนสี่ชั่วโมง พอเรียนเสร็จก็พัก แล้วทำกิจกรรมอื่นๆ พอหนึ่งทุ่มก็มาสอบ โดยก่อนสอบพี่ๆ จะติวให้ด้วย ก่อนหน้านี้หนูก็เคยหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่สนใจ แต่ไม่ได้ข้อมูลมากเท่าที่มาฟังพวกพี่เขาเล่า เพราะมีกิจกรรมหนึ่งที่ถามว่าเราอยากเข้าคณะอะไร ก็จะมีพี่ที่คณะนั้นมานั่งให้เราได้ถามเลย แล้วพี่ๆ ยังบอกถึงวิธีการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอีกด้วยค่ะ นั่นทำให้พอหลังกลับมาจากค่ายก็ยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าอยากเข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ และยิ่งทำให้เรารู้ว่าการเรียนคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยาก และเป็นเรื่องน่าสนุกสำหรับหนูค่ะ"
ด้าน น้องเสือน้อย - นายธีรเมธ น้อยสุวรรณ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนระยองวิทยาคม จังหวัดระยอง เล่าถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมค่ายรากแก้วครั้งนี้ว่า"ค่ายสนุกมากครับ พี่ๆ แนะนำให้ไปตั้งแต่ครั้งที่ยี่สิบเก้า แต่ว่าไม่ได้ไป พอถึงครั้งนี้ก็เลยตั้งใจจะมาให้ได้ สิ่งที่ได้จากค่ายนี้คือได้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ โดยได้เรียนจากประสบการณ์จริงคือการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ เช่น พวกกำหนดปัญหา ตั้งสมมติฐาน โดยในห้องเรียนมีการสอนทฤษฎีบ้าง แล้วก็ให้ทดลองจริง ซึ่งมันจะเห็นภาพและเข้าใจบทเรียน นอกจากนี้ยังได้ร่วมกิจกรรมสันทนากับจากพี่ๆ และเพื่อนๆ สนุกจนลืมเหนื่อยเลย ทำให้ได้เจอกับเพื่อนใหม่ๆ รวมถึงได้มิตรภาพจากพี่ๆ ที่ประทับใจมากๆ คือพวกพี่ค่าย รู้สึกอบอุ่นมาก พี่เขาดูและเทคแคร์ดี ทำให้มีใจรักในการเรียนวิทย์-คณิตมากเข้าไปอีก และทำให้ผมรู้ตัวเองแล้วว่าอยากเรียนต่อคณะวิศวะฯ ครับ"
คุณพรสุรีย์ กอนันทา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวปิดท้ายถึงความสำเร็จของค่ายรากแก้วจากรุ่นสู่รุ่นว่า "ตลอดระยะเวลา 23 ปีที่ผ่านมาที่เราสนับสนุนสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินโครงการค่ายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ รากแก้ว เพื่อสร้างบุคลากรในสาขาสะเต็ม ซึ่งเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีนักเรียนทั่วประเทศผ่านการอบรมจากค่ายนี้ไปแล้วกว่า 5,145 คน ค่ายรากแก้วไม่เพียงให้ความรู้ด้านวิชาการเท่านั้น แต่กิจกรรมต่างๆ ที่น้องได้เข้าร่วมจะช่วยฝึกฝนให้น้องๆ ได้ฝึกฝนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทั้ง 13 อย่าง อาทิ การตั้งสมมติฐาน การเฝ้าสังเกต และการทดลอง การวิเคราะห์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทักษะที่สำคัญที่น้องๆ สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนรู้และใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 เติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศทางใดก็ทางหนึ่ง"
หากเยาวชนเปรียบเสมือนต้นกล้าที่รอวันเติบโต ค่ายแห่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ต้นกล้าเหล่านี้มีรากแก้วที่แข็งแรง รอวันเติบโตผลิใบ สู่การเป็นพลังคนที่มีคุณภาพเพื่อรวมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง