กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 76.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 71.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 83.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 0.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 87.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
-วันที่ 11 ก.ค. 61 บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย National Oil Corp. (NOC) ของรัฐบาลที่อยู่ในกรุง Tripoli ซึ่งสหประชาชาติให้การยอมรับ ประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) และสามารถกลับมาดำเนินการท่าส่งออกน้ำมันจำนวน 4 ท่า ได้แก่ Ras Lanuf (ปริมาณส่งออก 200,000 บาร์เรลต่อวัน), Es Sider(ปริมาณส่งออก 350,000 บาร์เรลต่อวัน), Zueitina (ปริมาณส่งออก 150 0,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Hariga (ปริมาณส่งออก 140,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังกลุ่มEastern Libyan National Army (LNA) ได้รับชัยชนะจากการต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายตรงข้ามซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 61 และ ส่งมอบการบริหารท่าส่งออกให้ NOC ที่อยู่ในกรุง Tripoli
-บริษัท Suncor Energy รายงานแหล่งผลิต Syncrude ในแคนาดา (กำลังการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งหยุดดำเนินการจากปัญหาทางเทคนิคตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 61 จะเริ่มกลับมาผลิตน้ำมันดิบ 150,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งหลังของเดือน ก.ค. 61 เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้น ก่อนจะเพิ่มอีกราว 100,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. 61 และกลับมาผลิตเต็มความสามารถในเดือน ก.ย. 61
-อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มถูกฉุดรั้งจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนซึ่งทวีความรุนแรง หลังสหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้า จากจีน อัตรา 10% มูลค่ารวม 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า บุหรี่ และถ่านหิน) เริ่มบังคับใช้วันที่ 30 ส.ค. 61
-รายงานประจำเดือน ก.ค. 61 ของ Energy Information Administration (EIA) ประมาณการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 40,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.80 ล้านบาร์เรลต่อวัน และไตรมาสที่ 4/62 เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 12.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 10.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
-วันที่ 10 ก.ค. 61 พนักงานแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมของบริษัท Royal Dutch Shell ในนอร์เวย์หยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบ Knarr (24,000 บาร์เรลต่อวัน) หยุดดำเนินการ ขณะที่การเจรจาเรียกร้องค่าจ้างพนักงาน ระหว่างสมาคมเจ้าของเรือและสหพันธ์การค้า Safe และ YS ของนอร์เวย์ ล้มเหลว ซึ่งอาจทำให้การผละงานประท้วงขยายวงกว้าง
-Reuters รายงานอินเดียนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน เดือน มิ.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 15.9% มาอยู่ที่ 592,800 บาร์เรลต่อวัน ลดลงเป็นเดือนแรก เพื่อตอบสนองต่อการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ
-EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 12.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 405.2 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์เพิ่มขึ้น จากผู้ค้ากังวลต่ออุปทานน้ำมันที่ส่งสัญญาณตึงตัว จาก นอร์เวย์ และอิรัก ล่าสุดพนักงานที่ปฏิบัติการแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่นอกชายฝั่งนอร์เวย์ ราว 1,600 คน หยุดงานประท้วง ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 61 จากการเจรจาขอขึ้นค่าจ้างล้มเหลวส่งผลให้หลุมผลิตน้ำมัน Knarr(ปริมาณการผลิต 24,000 บาร์เรลต่อวัน) ปิดดำเนินการ และสถานการณ์ความไม่สงบในอิรักขยายตัว โดยกลุ่มผู้เดินขบวนประท้วงรัฐบาล ปิดถนนทางเข้าออกของท่าส่งออก Umm Qasr ใกล้แหล่ง Basra ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันสำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตามให้จับตามองกระแสข่าวรัฐบาลสหรัฐฯ ในการพิจารณาขายน้ำมันดิบสำรองเชิงยุทธศาสตร์ปริมาณ 5-30 ล้านบาร์เรล จากที่มีอยู่ 660 ล้านบาร์เรล เพื่อบรรเทาสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือน พ.ย. 61 โดย Bloomberg รายงานสหรัฐฯ และรัสเซียอาจเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ โดยรัฐมนตรีพลังงาน Alexander Novak กล่าวว่าหากอุปทานน้ำมันโลกขาดแคลน กลุ่ม OPEC และพันธมิตรสามารถปรึกษาหารือกัน เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้รัสเซียเริ่มกลับมาผลิตน้ำมันดิบเพิ่มในเดือน ก.ค. 61 นี้ ทำให้อัตราความร่วมมือกลับมาอยู่ที่ 80 สัปดาห์นี้คาดราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73.0-78.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 70.0-75.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.0-76.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก อุปสงค์น้ำมันเบนซินในภูมิภาคเอเชียเบาบางโดยอินโดนีเซียและไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน ขณะที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง และในวันที่ 10 ก.ค. 61 บริษัท JXTG Nippon Oil & Energy เริ่มดำเนินการหน่วย Crude Distillation Unit หรือ CDU (กำลังการกลั่น 162,000บาร์เรลต่อวัน) และ Condensate Splitter (กำลังการกลั่น 35,100 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Kashima (กำลังการกลั่น 273,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังจากปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 61 และบริษัท Idemitsu Kosan เริ่มดำเนินการ CDU ที่โรงกลั่น Hokkaido (กำลังการกลั่น 150,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังจากปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่เดือน พ.ค. 61 ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.52 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.58 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน อย่างไรก็ตาม Reuters รายงาน Arbitrage น้ำมันเบนซินจากเอเชียอาทิ จากสิงคโปร์ และจีน ไปยังภูมิภาคตะวันตก อาทิ สหรัฐฯ ลาตินอเมริกา และออสเตรเลียเปิดโดยผู้ค้าน้ำมันใช้เรือขนส่งขนาด MR (Middle Range ปริมาณขนส่ง 190,000-420,000 บาร์เรล) ส่งมอบ ก.ค 61 อย่างน้อย 8 เที่ยวเรือ ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 700,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 239 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 80.0-85.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงหลังตลาดน้ำมันดีเซลถูกกดดันจากอินเดียที่ยังส่งออกต่อเนื่อง และบริษัท Sinopec ของจีนรายงานโรงกลั่น Hainan อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ (กำลังการกลั่น 184,000 บาร์เรลต่อวัน) ผลิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินมาตรฐาน National Phase 6 (เทียบเท่า Euro 6) ทั้งนี้จีนมีแผนเริ่มใช้มาตรฐานใหม่ข้างต้นทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 62 ขณะที่ Sinopec มีแผนให้โรงกลั่นทั้ง 11 โรง (รวมกำลังการกลั่นราว 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ผลิตได้ล่วงหน้าก่อนแผน 3 เดือน ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 121.7 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 220,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.73 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 3 เดือน อย่างไรก็ตาม บริษัท Emirates General Petroleum Corp. (EMARAT) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.001% S ปริมาณ 149,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 12-13 ส.ค. 61 ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 84.0-89.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล