กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีประกัน (SSI083A) ของ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” พร้อมแนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงตำแหน่งผู้นำตลาดของบริษัทในฐานะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนภายในประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้าซึ่งเป็นผู้บริโภคเหล็กคุณภาพสูง ตลอดจนภาวะตลาดที่ผู้ผลิตภายในประเทศได้รับการปกป้องในรูปของโควต้าและอากร และการมีโครงสร้างต้นทุนแบบผันแปรซึ่งมีผลทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการผลิต ในขณะที่จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนจากการแข่งขันที่รุนแรงจากทั้งผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนลักษณะของอุตสาหกรรมเหล็กที่มีความผันผวน ความเสี่ยงจากลักษณะการทำธุรกรรมที่โดยทั่วไปจะเป็นสัญญาซื้อขายเหล็กระยะสั้น (1-3 เดือน) และความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่มีสินค้าเพียงประเภทเดียวและมีโรงงานเพียงแห่งเดียว
ทริสเรทติ้งยังคงแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” เนื่องจากคาดว่าโครงสร้างทางการเงินของบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี จะยังคงได้รับแรงกดดันต่อไปอีก 1-2 ปี แม้ว่าฐานะทางการเงินของบริษัทจะอ่อนแอลงกว่าที่คาด แต่โดยรวมแล้วยังคงสะท้อนสถานะอันดับเครดิตระดับ “BBB” อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากโครงสร้างทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเป็นผลจากการที่กระแสเงินสดจากการการดำเนินงานถดถอยลงเนื่องจากการปรับลดของราคาเหล็กหรือจากการที่ปริมาณขายลดลง นอกจากนี้ หากบริษัทมีการลงทุนเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้อัตราส่วนกระแสเงินสดต่อภาระหนี้ลดลงก็จะส่งผลในทางลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี เป็นผู้นำตลาดในบรรดาผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (Hot Rolled Coil) ในประเทศทั้ง 3 รายทั้งในด้านปริมาณการผลิตและยอดขาย กระบวนการผลิตของบริษัทแตกต่างจากโรงงานผลิตเหล็กแบบครบวงจรและโรงหลอมเหล็กขนาดเล็กโดยทั่วไปเนื่องจากบริษัทไม่ได้ทำการผลิตโดยตรง แต่นำเหล็กแท่งแบนกึ่งสำเร็จรูป (Semi-finished Slab) ไปผ่านกระบวนการผลิตให้เป็นเหล็กแผ่นชนิดม้วน (Flat-rolled Coil) บริษัทมีโรงงานเพียงแห่งเดียวซึ่งตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือน้ำลึกในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การเลือกสถานที่ตั้งโรงงานมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง บริษัทมีรายได้จากยอดขายภายในประเทศประมาณ 78% ของยอดขายรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐในระดับหนึ่ง ผู้ประกอบการภายในประเทศจึงได้รับประโยชน์จากมาตรการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดของรัฐบาลซึ่งอยู่ระหว่าง 3.22%-128.11% สำหรับสินค้าเหล็กที่นำเข้าจากผู้ผลิต 14 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการภายในประเทศยังคงได้รับผลกระทบในด้านลบจากการนำเข้าเหล็กราคาถูกในปริมาณมากจากประเทศที่ไม่ถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี อยู่ที่การมีโรงงานเพียงแห่งเดียวเพราะจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงในกรณีที่โรงงานหยุดดำเนินการนอกแผนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด นอกจากนี้ การขาดกระบวนการผลิตที่ครบวงจรและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ยังส่งผลให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนด้านอุปทานและอุปสงค์ของเหล็กแท่งแบนและเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนในตลาดโลกด้วย ในขณะเดียวกัน นโยบายในการสำรองเหล็กแท่งแบนขนาดต่างๆ เพื่อให้เพียงพอกับการผลิตตามคำสั่งของลูกค้ายังส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบและทำให้มีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนในระดับสูง
ผลประกอบการของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ต่ำกว่าคาด ปริมาณเหล็กส่งมอบให้แก่ลูกค้าในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ 0.96 ล้านตัน ลดลง 31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลจากการลดลงลงของอุปสงค์ภายในประเทศและราคาต้นทุนวัตถุดิบรวมทั้งค่าขนส่งที่สูงขึ้น บริษัทได้ปรับลดการผลิตลงไปอยู่ที่ 0.88 ล้านตัน เปรียบเทียบกับจำนวน 1.25 ล้านตันในช่วงเดียวกันของปีก่อน โครงสร้างต้นทุนที่ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนผันแปรทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการผลิตโดยสามารถปรับตารางการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพตลาดได้ อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 อยู่ที่ 7.10% ดีขึ้นจาก 6.31% ในช่วงเดียวกันของปี 2549 ทั้งนี้ การที่ธุรกิจชะลอตัวทำให้ภาระหนี้ของบริษัทลดลงเนื่องจากบริษัทนำเงินกู้ส่วนใหญ่ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน ภาระหนี้ของบริษัทลดลงจาก 30,670 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2548 มาอยู่ที่ 21,960 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2549 และลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 15,659 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2550 ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 52.30% และ 4.88% ในปี 2548 มาอยู่ที่ 43.55% และ 6.67% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 (ยังไม่ได้ปรับให้เป็นอัตราส่วนเต็มปี)