กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--ธนาคารกสิกรไทย
กรมเจ้าท่าไฟเขียวหนุนกสิกรไทยและเรือด่วนเจ้าพระยาจ่ายค่าตั๋วเรือผ่านคิวอาร์โค้ด นำร่องให้บริการแล้ว 3 ท่าเรือยอดฮิต ได้แก่ ท่าเรือนนทบุรี พรานนก และสาทร ยกระดับการให้บริการขนส่งทางน้ำ ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณผู้ใช้บริการผ่านคิวอาร์โค้ดเป็น 30% ในสิ้นปีนี้
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ในแต่ละวันจะมีประชาชนใช้บริการเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วยเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือข้ามฟากมากกว่า 150,000 คนต่อวัน หรือมากกว่า 18 ล้านคนต่อปี ถือได้ว่าเป็นเส้นทางคมนาคมที่นิยมและมีความสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นอย่างมาก
กรมเจ้าท่าและบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด เห็นว่าการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่นมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว และทันสมัย จึงร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยเปิดให้บริการรับชำระค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อยกระดับการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในอนาคตจะมีแผนการขยายการรับชำระค่าโดยสารเรือข้ามฟาก และเรือคลองแสนแสบ เพื่อเป็นการตอบสนองสังคมไร้เงินสด ตามนโยบายของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป
นางสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า เรือด่วนเจ้าพระยาจับมือกับธนาคารกสิกรไทยเพื่อตอบโจทย์และปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดตามนโยบายของภาครัฐและกรมเจ้าท่า ตลอดจนเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา โดยการสนับสนุนของกรมเจ้าท่าในการพัฒนาบริการชำระค่าบัตรโดยสารด้วยคิวอาร์โค้ดเพื่อรองรับผู้โดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาที่มีกว่า 35,000 คนต่อวัน บนเส้นทางเดินเรือที่มีกว่า 40 ท่า ซึ่งเปิดให้บริการนำร่องใน 3 ท่าเรือหลักที่มีผู้ใช้บริการสูงที่สุด ได้แก่ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือพรานนก และท่าเรือสาทร ในประเภทเรือด่วนโดยสารพิเศษ ธงส้มและธงเหลือง โดยมีแผนขยายการให้บริการด้วยคิวอาร์โค้ดให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้นในอนาคต ทั้งกับเรือโดยสารประเภทอื่น ๆ รวมถึงการเพิ่มจำนวนท่าเรือที่รองรับคิวอาร์โค้ดเพื่อเร่งผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มตัว
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้จ่ายค่าตั๋วเรือผ่านคิวอาร์โค้ดที่สามารถขยายตัวได้อีกมากเป็น 30% หรือประมาณ 7,000 - 10,000 คนต่อวัน โดยคาดว่าจากจุดเริ่มต้นนี้จะต่อยอดให้เกิดการเชื่อมโยงกับบัตรขนส่งสาธารณะอื่น ๆ เช่น บัตรแมงมุมและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทด้านการขนส่งสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นอีกด้วย พร้อม ๆ ไปกับแผนการพัฒนาการให้บริการเรือโดยสาร โดยล่าสุดมีแผนพัฒนาเรือโดยสารรูปแบบใหม่ ประเภทเรือ Catamaran ลำตัวคู่ที่มีความสะดวกสบาย ความปลอดภัยสูง รองรับการให้บริการที่เชื่อมต่อกับการเปิดใช้ระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่กำลังจะเปิดใช้ในปี 2562 นี้
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทย มีเป้าหมายที่จะพัฒนาบริการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการจับจ่ายในทุกโอกาสทั้งในร้านอาหาร ช้อปปิ้ง เดินทางท่องเที่ยว เพื่อให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งที่ผ่านมามีแนวโน้มที่คนไทยจะเริ่มคุ้นชินในการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดมากขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับเรือด่วนเจ้าพระยาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญของคนกรุงเทพฯ ที่เชื่อมต่อกับตัวเมืองชั้นใน ทั้งเพื่อเดินทางในชีวิตประจำวัน เชื่อมโยงเครือข่ายกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ช่วยหลีกเลี่ยงการจราจรทางบกที่ติดขัดในช่วงเร่งด่วน รวมถึงการโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตและชุมชนริมน้ำ ตลอดจนโบราณสถานตลอดแนวแม่น้ำของชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยธนาคารได้เริ่มให้บริการชำระค่าตั๋วเรือด่วนเจ้าพระยาด้วยคิวอาร์โค้ดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามเทรนด์การใช้เงินดิจิทัลและพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ ธนาคารได้จัดโปรโมชั่นพิเศษลดค่าโดยสาร 2 บาท สำหรับผู้โดยสารที่ชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดผ่าน K PLUS รวม 60,000 สิทธิ์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา จนกว่าสิทธิ์จะหมด เพื่อให้ผู้โดยสารได้ทดลองใช้บริการ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้มียอดการใช้คิวอาร์โค้ดเพิ่มขึ้นถึงกว่า 7,000 รายการ จากเดิมที่ชำระด้วยเงินสดทั้งหมด ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและสนับสนุนการสร้างประสบการณ์สังคมไร้เงินสดให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการ และช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่ของเรือด่วนเจ้าพระยาอีกด้วย
ปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าใช้แอปฯ K PLUS รวมกว่า 8.4 ล้านราย รวมถึงมีจำนวนร้านค้าที่ใช้แอปฯ K PLUS SHOP อีก 1.4 ล้านร้านค้า คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมการรับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดรวมกว่า 4,000 ล้านบาท ครอบคลุมหลายกลุ่มธุรกิจรวมถึงกลุ่มขนส่งมวลชนที่เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสำคัญ โดยธนาคารได้พัฒนาการใช้คิวอาร์โค้ดเพื่อชำระค่าตั๋วให้กับระบบขนส่งมวลชนมาแล้วทั้งเครื่องบิน รถสาธารณะ และรถไฟ