กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--แม็กซิม่า คอลซัลแตนท์
มูลนิธิไทยคม นำโดย พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองประธานมูลนิธิไทยคม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี จัดสัมมนาพิเศษ ในหัวข้อ “ความสำคัญของเทคโนโลยีกับการศึกษาในโลกยุคใหม่” ในงานเปิดสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มูลนิธิไทยคม โดยได้เชิญวิทยากรพิเศษ ศาสตราจารย์ วอลเตอร์ เบนเดอร์ หัวหน้าคณะทำงานวิจัยและพัฒนาซอฟแวร์และเนื้อหาให้กับโครงการ One Laptop per Child (OLPC) และหนึ่งในผู้ก่อตั้งเอ็มไอที มีเดีย แล็บ (MIT Media Lab) แห่งสถาบันเทคโนโลยี แมซซาซูเสตต์ ผู้มุ่งพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อปฏิวัติกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนทั่วโลกมาร่วมด้วย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองประธานมูลนิธิไทยคม และที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้า ธนบุรี กล่าวว่า “การเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา คิดค้นและพัฒนาโดย ศาตราจารย์ซีมัวร์ แพเพิร์ต จากเอ็มไอที มีเดีย แล็บ แห่งสถาบันเทคโนโลยี แมซซาซูเสตต์ โดยนำมาปรับใช้ในการพัฒนาการศึกษาของเยาวชนไทย และสอดคล้องกับภูมิสังคมไทย ในชื่อของ การเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา หรือ Innovative Learning ตั้งแต่ พ.ศ.2541 โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการปฏิบัติจริง (Learning by doing) บูรณาการด้วยคุณธรรม จริยธรรม เทคโนโลยี วิชาการ ศิลปวัฒนธรรม และความเป็นไทยมากขึ้นตามลำดับ เพื่อให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ และเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งสามารถพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของตน ในด้านทักษะการใช้ชีวิตให้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ที่สำคัญเป็นการส่งเสริมและปลูกฝังให้ผู้เรียนสามารถคิด วางแผน และทำงานอย่างเป็นระบบไปจนถึงฝึกทักษะการแก้ปัญหา ทำงานเป็นทีมได้ดี โดยรู้รับผิดชอบหน้าที่ มีคุณธรรมและจริยธรรม”
ศาสตราจารย์ วอลเตอร์ เบนเดอร์ ยังกล่าวเสริมว่า “การเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา หรือ Innovative Learning นั้น เด็กต้องมีความรักในสิ่งที่ทำ ทำมากขึ้น ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น และอยากทำอีก ต้องระลึกเสมอว่าความรักทรงพลังและสำคัญมากกว่าหน้าที่ โดยเทคโนโลยีและการเรียนรู้ต้องไปด้วยกัน การมีแลบท็อป เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้าสู่โลกกว้าง แลบท็อปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไปกับเด็กทุกที่ กับพ่อแม่ เข้าไปในชุมชน หากมองว่าวัคซีนคือภูมิคุ้มกัน แลบท็อปก็คือสาระอย่างหนึ่ง เพราะระบบการศึกษาใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากระบบราชการ การเปลี่ยนแปลงระบบจึงทำได้ยาก แต่เมื่อเราใช้การเรียนรู้ผ่านเด็ก ให้เด็กมีทักษะ มีกระบวนการคิด เด็กจะเป็นตัวกระตุ้นให้ระบบเกิดการเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันครูก็ต้องเป็นผู้ขับเคลื่อน ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยชี้แนะและเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก เมื่อครูยอมรับจุดนี้ได้ ก็จะเกิดการกระตือรือร้นไปพร้อมกับเด็ก ความสำเร็จตรงนี้วัดได้จากสิ่งที่เห็นโดยใช้เวลา ในบราซิลจะเห็นว่าเด็กจะมีความสุขที่จะมาโรงเรียน แม้ครูไม่มาสอนก็ตาม”
“One Laptop per Child มีหลักการ 5 ข้อ คือ 1.ความเป็นเจ้าของแลบท็อป ก่อให้เกิดความมีส่วนร่วมของเด็ก เมื่อเด็กๆ มีแลบท็อปเด็กๆ สามารถกลับบ้านได้ เพราะเด็กๆ ไม่ได้ใช้เวลาทั้งชีวิตที่โรงเรียน ดังนั้น จึงต้องหัดเรียนรู้ทุกที่ 2.เด็กเป็นผู้เรียนและสอนพร้อมกัน ให้แลบท็อปเป็นพาหนะสำรวจสิ่งต่างๆ ที่อยากเรียนและอยากรู้ 3.ระดับขนาดของแลบท็อปพกพาง่าย รวดเร็ว และประหยัดพลังงาน มีความสามารถในการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีต่างๆ ซ่อมแซมง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เด็กทุกคนต้องมีแลบท็อปใช้ให้ครอบคลุมมากที่สุด 4.เชื่อมโยงเด็กและครู เด็กสามารถแสดงออกผ่านกิจกรรมต่างๆ และท้ายสุด คือ มีอิสระและเปิดกว้าง เด็กสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ได้จริง มีการเปลี่ยนแปลงความคิดตามวิธีการที่เหมาะสม นำไปสู่การเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะโรงเรียนในโลกส่วนใหญ่ทำให้เด็กล้มเหลว มีวิธีการเดิมๆ ไม่ได้ผล ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เป้าหมายของ One Laptop per Child คือ เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้”
ปิดท้ายการสัมมนา ด้วยข้อคิดสรุปดีๆ จากนักวิชาการและนักการศึกษาของไทย อย่าง ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ครู คศ.3 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ จ.ลำปาง ว่า สิ่งสำคัญของการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ต้องมองเห็นผู้เรียนเป็นสำคัญ และทำให้เขารู้สึกว่าเป็นใครสักคน ต้องสร้างอัตลักษณ์ แล้วผู้เรียนจะแก้ปัญหา และพึ่งตนเองได้ นำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ในขณะที่ ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ สรุปว่า การเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ต้องมองอะไรไม่เห็นสิ่งนั้น มองฝายไม่เห็นฝาย แต่เห็นคน เห็นกระบวนการคิด มองแลบท็อป ก็เห็นเทคโนโลยี ปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงแนวคิด คือ เครื่องมือ, สังคมและกรอบความคิด ท้ายสุดคือองค์กร ทุกวันนี้ประเทศไทยเดินไปถูกทางแล้ว เพียงแต่ต้องสนับสนุนและร่วมมือกันโดยใช้ความเข้าใจและให้โอกาสมากขึ้น
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัทแม็กซิม่า คอลซัลแตนท์ จำกัด โทร 0-2434-8300
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณปิติยา